งานวิจัย

การศึกษาการออกแบบเว็บเพจของโรงเรียนในโครงการ
เครือข่ายคอมพิวเตอร์
เพื่อโรงเรียนไทย


บทคัดย่อ

กิตติกรรมประกาศ

บทที่1

บทที่ 2

ความหมายและความ
เป็นมาของอินเทอร์เน็ต

อินเทอร์เน็ตกับการ
ศึกษา

เครือข่ายคอมพิวเตอร์
เพื่อโรงเรียนไทย

เว็บไซต์ โฮมเพจและ
เว็บเพจ

การนำเสนอผ่านเว็บ
การออกแบบเว็บเพจ

บทที่ 3

บทที่ 4

บทที่ 5

ภาคผนวก


ผมประยุกต์แบบ
สอบถามผ่านเว็บ
จากเว็บนี้ครับ

บทที่ 2 (ต่อ)

เครือข่ายคอมพิวเตอร์เพื่อโรงเรียนไทย (SchoolNet Thailand)

เรื่องที่สำคัญมากที่สุดเรื่องหนึ่งของการใช้เครือข่ายนี้ ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทย คือ โครงการ
เครือข่ายคอมพิวเตอร์โรงเรียนมัธยมศึกษา (SchoolNet) ซึ่งเป็นโครงการหนึ่งในหลายโครงการด้าน
เทคโนโลยีสารสนเทศ ที่เกิดขึ้นตามพระราชดำริของ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กล่าวคือ ศูนย์เทคโนโลยีอีเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ได้นำแนวพระราชดำริมาดำเนินการ
โดยร่วมมือกับหน่วยงานและสถาบันการศึกษาในสังกัดกรมสามัญศึกษากระทรวงศึกษาธิการ

โครงการเครือข่ายคอมพิวเตอร์เพื่อโรงเรียนไทย ซึ่งศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์
แห่งชาติ(เนคเทค) ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2538 ซึ่งรัฐบาลได้ประกาศให้เป็นปีแห่งเทคโนโลยี
สารสนเทศไทย โครงการนี้เป็นเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่อโรงเรียนมัธยมในประเทศไทยเข้าสู่
อินเทอร์เน็ตเพื่อเป็นการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศมาช่วยยกระดับการศึกษาของเยาวชนไทย ถือเป็นการ
ตอบสนองนโยบายของประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 ที่มุ่งเน้นการพัฒนา
ทรัพยากรมนุษย์ รวมทั้งเป็นการดำเนินการตามนโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติ (ไอที-2000)

โครงการนี้มีวัตถุประสงค์ในการพัฒนาคุณภาพของการศึกษาของเยาวชนไทย และลดความเหลื่อมล้ำ
ของโอกาสทางการศึกษา โดยเริ่มต้นที่ระดับมัธยมศึกษา โดยการใช้ประโยชน์จากเครือข่ายคอมพิวเตอร์
หรืออินเทอร์เน็ตในการศึกษาและเรียนรู้ นับเป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่ประเทศไทยถือเป็นประเทศแรก
ในภูมิภาคเอเซีย ที่มีเครือข่ายคอมพิวเตอร์โรงเรียน ที่เปิดโอกาสให้โรงเรียนมัธยมทั่วประเทศสามารถ
เข้าถึงเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน ในอัตราค่าโทรศัพท์ครั้งละ 3 บาททั่วประเทศ
ทั้งนี้ ด้วยความร่วมมือเป็นอย่างดีจากหลายหน่วยงาน ซึ่งถือเป็นโครงการที่ดำเนินการเพื่อตอบสนอง
รัฐธรรมนูญมาตรา 78 (ที่กล่าวว่า “รัฐต้องกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นพึ่งตนเอง และตัดสินใจในกิจการ
ท้องถิ่นได้เอง พัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น และระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ ตลอดทั้งโครงสร้าง
พื้นฐานสารสนเทศในท้องถิ่นให้ทั่วถึงและเท่าเทียมกันทั่วประเทศ…”) โดยส่วนที่ศูนย์เทคโนโลยี
อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ดำเนินการจะเป็นการตั้งต้นให้กับประเทศไทย เพื่อให้มีโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศในท้องถิ่นขั้นต่ำระดับหนึ่งเท่านั้น ซึ่งเมื่อผ่านระบบนี้ไปแล้ว
การขยายตัวจะเกิดขึ้นได้ง่าย เพราะผู้ใช้ระบบมีความพร้อม เนื่องจากได้เห็นความสำคัญและประโยชน์
ของการใช้อินเทอร์เน็ต และพร้อมที่จะจ่ายค่าบริการให้แก่ผู้ให้บริการภาคเอกชน เพื่อกระจายให้ผู้ใช้อื่น
ในโรงเรียนได้มากขึ้น จึงนับว่าเป็นการสร้างตลาดให้แก่ภาคเอกชน และกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย

นอกจากนี้โครงการนี้เป็นหนึ่งในโครงการร่วมงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เนื่องในวโรกาสมหามงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2542

วัตถุประสงค์ของโครงการ

นอกเหนือจากการเป็นการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 78 แล้วโครงการยังมีวัตถุประสงค์
ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการศึกษาคือ

 1. เพื่อให้โรงเรียนมัธยมทั่วประเทศได้มีและได้ใช้ประโยชน์จากเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ
ในการศึกษาและเรียนรู้

2. เพื่อเป็นสื่อกลางแลกเปลี่ยนเอกสาร สื่อการสอน ดัชนีห้องสมุดระหว่างโรงเรียนด้วยกันเอง
และโรงเรียนกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา

3. เพื่อให้ผู้ใช้ (ทั้งครูและนักเรียน) ในระดับโรงเรียนได้เข้าถึงศูนย์ข้อมูลต่างๆ และห้องสมุด
ในอินเทอร์เน็ต

4. เพื่อให้ครู อาจารย์ หรือนักเรียนในโรงเรียนสามารถติดต่อกับครู อาจารย์หรือนักเรียนในโรงเรียน
หรือสถาบันการศึกษาอื่นๆ ในระดับโรงเรียนหรือสูงกว่าทั้งในและต่างประเทศ

เป้าหมายของโครงการ

1. ขยายให้ครอบคลุมโรงเรียนทั่วประเทศสามารถต่อเข้าเครือข่ายแบบ dial-up ในอัตราค่าโทรศัพท์
ท้องถิ่น (3 บาท) เท่ากันทั่วประเทศ ปี 2542 โรงเรียนมัธยม 2,500 โรงเรียนปี 2543 โรงเรียนมัธยม
ประถมและอาชีวะจำนวน 5,000 โรงเรียน โดยมีหน่วยงานที่รับผิดชอบคือศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และ
คอมพิวเตอร์แห่งชาติ,องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย การสื่อสารแห่งประเทศไทยและกระทรวงศึกษาธิการ

2. จัดสรรบัญชีผู้ใช้งานแก่โรงเรียนร่วมโครงการ ปี 2542 จัดสรรบัญชีให้โรงเรียนละไม่เกิน 3 บัญชี แต่ละบัญชีมีชั่วโมงการใช้งานไม่เกิน 40 ชั่วโมงต่อเดือน และเนื้อที่เก็บข้อมูลโรงเรียนละไม่เกิน 
7 เมกะไบต์ ปี 2543 จัดสรรบัญชีให้โรงเรียนละไม่เกิน 5 บัญชี แต่ละบัญชีมีชั่วโมงการใช้งานไม่เกิน 80 ชั่วโมงต่อเดือน และเนื้อที่เก็บข้อมูลโรงเรียนละไม่เกิน 8 เมกะไบต์ โดยมีหน่วยงานที่รับผิดชอบคือ
ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ, กระทรวงศึกษาธิการ

3. จัดอบรมครูของโรงเรียนร่วมโครงการทั้งหมดในหลักสูตรการใช้อินเทอร์เน็ตเบื้องต้น และการเขียน
เว็บเพจเพื่อให้โรงเรียนสามารถใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ต และจัดทำข้อมูลเผยแพร่ได้ ปี 2542 จัดอบรม
ครูของโรงเรียน 2,500 โรงเรียนๆ ละ 2 คนปี 2543 จัดอบรมครูของโรงเรียน 5,000 โรงเรียนๆ ละ 2 คน โดยมีหน่วยงานที่รับผิดชอบคือสำนักงานสภาสถาบันราชภัฏ กระทรวงศึกษาธิการ

4.จัดทำต้นแบบของเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ในการสร้างเครือข่ายการเรียนรู้เพื่อใช้ประโยชน์ในการเรียนรู้
สำหรับนักเรียน และครูปี 2542 จัดทำต้นแบบเนื้อหาอย่างน้อย 7 หมวดวิชา เป็นจำนวน ไม่น้อยกว่า 1,000
เรื่อง โดยมีหน่วยงานที่รับผิดชอบคือศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค)
รวมทั้งกรมวิชาการกระทรวงศึกษาธิการ

5. จัดทำสื่อเพื่อพัฒนาครู 1 ชุด ประกอบด้วยหนังสือ วีดิทัศน์ และ ซีดีรอมเพื่อให้ครูเข้าใจถึงการนำ
เทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ประโยชน์ในการเรียนการสอนและการพัฒนาศักยภาพของตน โดยมีหน่วยงาน
ที่รับผิดชอบคือศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ,กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ

การดำเนินงาน

พ.ศ. 2538 ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ได้ดำเนินโครงการ
อินเทอร์เน็ตโรงเรียนมัธยมโดยเชื่อมต่อโรงเรียนมัธยมศึกษา 10 โรงเรียนเข้ากับเครือข่ายไทยสารที่ได้
ดำเนินการอยู่แล้ว

 พ.ศ. 2539 เนคเทคได้ประสานงานกับภาคเอกชนที่แสดงความจำนงสนับสนุนอุปกรณ์ทั้งฮาร์ดแวร์
และซอฟท์แวร์และจัดอบรมให้แก่โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ จัดตั้งเครื่องให้บริการ k12.nectec.or.th
(เรียกสั้นๆ ว่าเครื่อง k12) โดยจัดสรรบัญชีผู้ใช้โรงเรียนละ 2 บัญชี พื้นที่เผยแพร่ข้อมูลของโรงเรียนจำนวน 
5 เมกะไบต์ และเลขหมายโทรศัพท์จำนวน 39 เลขหมาย พร้อมทั้งจัดอบรมหลักสูตรการใช้อินเทอร์เน็ต
เบื้องต้นและการสร้างเว็บเพจแก่โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อให้โรงเรียนสามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต
แบบผู้ใช้ส่วนบุคคลอย่างมีประสิทธิภาพ

พ.ศ. 2540 ได้จัดทำต้นแบบการศึกษารูปแบบใหม่ “Classroom 2000”สำหรับโรงเรียนมัธยมศึกษา
เพื่อให้โรงเรียนใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาเนื้อหาเผยแพร่ในเครือข่ายให้โรงเรียนอื่นได้ใช้ประโยชน์
และเพื่อการแลกเปลี่ยนกับโรงเรียนอื่นๆ ที่สนใจ จัดกิจกรรม สัมมนาและอบรมให้ความรู้ความเข้าใจเรื่อง
อินเทอร์เน็ตแก่โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการเช่นสัมมนาอินเทอร์เน็ตสำหรับผู้บริหารโรงเรียนทั่วทุกภาค
ในประเทศไทย การอบรมหลักสูตรอินเทอร์เน็ตเบื้องต้นการอบรมหลักสูตรอินเทอร์เน็ตระดับกลาง กิจกรรม
Seagate Internet Training Camp เป็นต้น ทั้งยังได้พัฒนา Linux-SIS (Linux SchoolNet Internet
Server) ซึ่งเป็นชุดซอฟต์แวร์สำหรับโรงเรียนเพื่อติดตั้งบนเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (PC) ให้ทำหน้าที่
เป็นเครื่องให้บริการอินเทอร์เน็ตซึ่งมีเครื่องมือบริหารเครือข่าย (Web Admin Tool) ช่วยให้ครูผู้ดูแลระบบ
สามารถบริหารเครือข่ายโดยไม่จำเป็นต้องเรียนรู้คำสั่ง ถือเป็นการสนับสนุนให้โรงเรียนเชื่อมต่อ
เครือข่ายภายในโรงเรียนเข้าสู่อินเทอร์เน็ตแบบโหนดในราคาถูกและมีประสิทธิภาพ

 นอกจากนี้ ยังได้เริ่มโครงการฯ ในมิติใหม่ (SchoolNet@1509) โดยโครงการฯ ได้รับพระมหากรุณา-
ธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้ใช้ระบบเครือข่ายกาญจนาภิเษก ซึ่งมีศูนย์
รับการเชื่อมต่อออนไลน์ทั่วประเทศ เพื่อใช้งานเชื่อมต่อเข้าเครือข่ายเพื่อโรงเรียนไทยโดยการหมุนเลขหมาย
1509 โดยเริ่มตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ 2541 และในเวลาต่อมา กระทรวงคมนาคมได้มอบนโยบายให้องค์การ
โทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท.) และการสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) ร่วมมือกับเนคเทคหาทางจัดระบบ
อินเทอร์เน็ตในราคาถูก ให้แก่โรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศอย่างทัดเทียมและทั่วถึงโดยเริ่มต้นที่โรงเรียน
มัธยมศึกษาก่อน

พ.ศ. 2541 ผลที่ได้รับจากแนวนโยบายของกระทรวงคมนาคมนี้ คือการร่วมมือกันระหว่างโครงการ
เครือข่ายคอมพิวเตอร์เพื่อโรงเรียนไทยกับเครือข่ายกาญจนาภิเษก กลายเป็นระบบบริการเครือข่าย
คอมพิวเตอร์เพื่อโรงเรียนไทย ที่สามารถเชื่อมต่อออนไลน์ได้ทั่วประเทศผ่านเลขหมายพระราชทาน 1509
โดยผู้ใช้เสียค่าใช้จ่ายเพียงค่าโทรศัพท์ครั้งละ 3 บาท ทั้งนี้อินเทอร์เน็ตทางไกลภายในประเทศ ได้รับการ
สนับสนุนโดยองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ส่วนอินเทอร์เน็ตทางไกลต่างประเทศนั้น สนับสนุนโดย
การสื่อสารแห่งประเทศไทยและเนคเทค ส่วนระบบอุปกรณ์เครือข่ายทั้งหมดเป็นของเครือข่ายกาญจนาภิเษก
และเครือข่ายไทยสารรวมกัน จึงจัดได้ว่าเป็นเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเพื่อการศึกษาที่เปิดให้กับโรงเรียนมัธยม
ศึกษาทั่วประเทศได้เข้าถึง โดยใช้หลักการความทัดเทียมและความทั่วถึง กล่าวคือ โรงเรียนในต่างจังหวัด
ทุกจังหวัดจะมีโอกาสในการเข้าถึงเครือข่ายเท่ากับโรงเรียนในกรุงเทพมหานคร

 สำหรับการดำเนินการนั้นคณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติ ได้จัดตั้งคณะทำงานประสาน
งานการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการศึกษาขึ้น โดยให้เป็นความร่วมมือระหว่าง 3 กระทรวงได้แก่กระทรวง
คมนาคม กระทรวงศึกษาธิการฯ และกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดยคณะทำงานมีหน้าที่ในการจัดทำแนวทาง
ในความร่วมมือ และการส่งเสริมการพัฒนาโครงการฯ ทั้งนี้ได้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อให้รับผิดชอบในส่วนที่
เกี่ยวข้องกับการเข้าถึงเครือข่ายฯ การจัดเตรียมเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ทางการศึกษา และการฝึกอบรม
บุคลากร

ส่วนโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับการจัดสรรบัญชีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตส่วนบุคคล โรงเรียนละ
ไม่เกิน 3 บัญชี มีจำนวนชั่วโมงการใช้งานไม่เกินเดือนละ 40 ชั่วโมง และเนื้อที่เก็บข้อมูลไม่เกินโรงเรียน
ละ 7 เมกะไบต์

 ผลการดำเนินงาน

 เดือนตุลาคม พ.ศ.2541 มีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการจำนวน 446 โรงเรียนทั่วประเทศ ซึ่งได้รับบัญชี
ผู้ใช้แบบ dial-up จำนวน 882 บัญชีโรงเรียนที่มีศักยภาพเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตแบบโหนดแล้วผ่านเครือข่าย
ไทยสารประมาณ 40 โรงเรียน และโรงเรียนที่เผยแพร่ข้อมูลที่มีประโยชน์ด้านการศึกษาจำนวน 94 โรงเรียน
ทั่วประเทศ

แผนการดำเนินงานปี 2542-2543

1. ขยายขอบเขตของโครงการสู่โรงเรียนมัธยมทั่วประเทศ และโรงเรียนประถม/อาชีวะที่มีความพร้อม
จำนวน ทั้งสิ้น 5,000 โรงเรียน

2. จัดสรรบัญชีผู้ใช้ส่วนบุคคล (Internet Account) โรงเรียนละไม่เกิน 5 บัญชี โดยมีชั่วโมงการใช้งาน
ได้ไม่เกินเดือนละ 80 ชั่วโมงและเนื้อที่เก็บข้อมูลของโรงเรียนไม่เกิน 8 เมกะไบต์สำหรับโรงเรียนใน
โครงการ

3. จัดสัมมนาและอบรมให้ความรู้ด้านอินเทอร์เน็ตในหลักสูตรการใช้อินเทอร์เน็ตเบื้องต้น และการเขียน
เว็บเพจ ด้วยภาษา HTML แก่ครู อาจารย์ในโรงเรียนที่ร่วมโครงการ

4. จัดทำสื่อในรูปของหนังสือ วีดิทัศน์ และ ซีดีรอมเพื่อพัฒนาครูให้มีความรู้ความเข้าใจถึงความจำเป็น
ที่ห้องเรียน โรงเรียน และกระบวนการเรียนรู้จะต้องปรับเข้าสู่ยุคใหม่ ซึ่งเทคโนโลยีการสื่อสารและมัลติมีเดีย
จะมีความสำคัญอย่างยิ่ง

5. จัดทำต้นแบบเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ในการสร้างเครือข่ายการเรียนรู้สำหรับโครงการ เพื่อใช้ประโยชน์
ในการเรียนรู้สำหรับนักเรียนและครูอาจารย์

6. ส่งเสริมการผลิตสื่อการเรียนการสอน การพัฒนาเนื้อหาข้อมูลของโรงเรียนให้เกิดขึ้นมากๆ และมี
คุณภาพเพื่อนำมาเผยแพร่ในเครือข่ายให้โรงเรียนได้ใช้ประโยชน์และแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ซึ่งกันและกัน

7. ส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้อินเทอร์เน็ตภายในโรงเรียน

8. ส่งเสริมให้ครูและนักเรียนไทยได้ร่วมทำกิจกรรมหรือโครงการกับครูและนักเรียนของโรงเรียนใน
ต่างประเทศ ผ่านทางระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เช่น ผลิตสื่อบทเรียนร่วมกัน โดยทำเป็น มัลติมีเดีย
ทำโฮมเพจ ในสิ่งที่สนใจร่วมกัน โดยแบ่งเป็นหลายกลุ่ม และนำมาประกวดกัน

9. ประสานงานหรือร่วมกับภาคเอกชน เพื่อริเริ่มกิจกรรมหรือโครงการที่เกี่ยวข้องกับการนำเทคโนโลยี
สารสนเทศ และอินเทอร์เน็ตมาใช้ในระบบการศึกษาไทย

10. ผลักดันให้โรงเรียนในโครงการที่มีความพร้อมและมีศักยภาพทั้งด้านบุคลากรและด้านงบประมาณ
พัฒนาตนเองเป็นโหนดอินเทอร์เน็ตผ่านเครือข่ายไทยสาร เพื่อจะได้ให้บริการอินเทอร์เน็ตแก่บุคลากร
ในโรงเรียนของตนได้อย่างเต็มที่ และยังสามารถให้บริการแก่โรงเรียนใกล้เคียงที่ยังไม่ได้เข้าร่วมใน
โครงการเครือข่ายคอมพิวเตอร์เพื่อโรงเรียนไทยได้ด้วย

จากที่กล่าวมานั้น จะเห็นได้ว่าทั้งเครือข่ายอินเทอร์เน็ตและโครงการเครือข่ายคอมพิวเตอร์เพื่อโรงเรียน
ไทยถือเป็นโครงการเริ่มต้นที่เป็นก้าวสำคัญ เป็นระบบเครือข่ายที่จะให้ประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพ
การศึกษาในภาพรวมได้อย่างมากจนแทบจะเรียกว่าหาข้อจำกัดมิได้

 อย่างไรก็ตาม การใช้งานอินเทอร์เน็ตในโครงการเครือข่ายคอมพิวเตอร์เพื่อโรงเรียนไทย ได้อาศัย
เครือข่ายอีกรูปแบบหนึ่งที่เรียกกันว่าเวิลด์ไวด์เว็บ (World Wide Web หรือ WWW) มัก นิยมเรียกสั้นๆ ว่าเว็บ (Web) ซึ่งจะได้กล่าวถึงรายละเอียดในลำดับถัดไป


ด้วยจิตคารวะ


คำ "ติ-ชม" ของท่านมีค่ามหาศาลต่อการพัฒนาเว็บไซต์ครับ

created by.
กระดานดำออนไลน์
730/4 Tassabarn 7 Rd. Tambol.Ra-ngang
Sikhoraphum District, Surin Province.Thailand 32110

email : jakrapog@hotmail.com 
29 June, 2003