กับเรื่องราวจากไอ้หนุ่มหน้ามล คนลูกทุ่ง เมืองศีขรภูมิ

"ปฏิรูปการศึกษาแบบเกษตรอินทรีย์ ๓"

ยังอยู่ครับ ไม่ได้หายไปไหน แต่ด้วยภารกิจหน้าที่ ก็เลยห่างหายไปนานพอสมควร ตอนนี้ความรู้ที่ร่ำเรียนมามากมายก่ายกองกำลังจะตกหล่นหายไปในท้องนาเสียแล้ว

ตั้งแต่กลับมาทำงานที่บ้าน ผมต้องทบทวนและปรับความรู้สึกของตัวเองพอสมควรครับ กับการที่ "เคยมี" และเคยทำ ก็เลยคิดว่าจะกลับมาทำแบบที่เคยทำในเมืองหลวง

ตรงกันข้ามครับ ... หลังจากปรับใจได้แล้ว ก็ต้องหาวิธีทำให้ความรู้ที่ร่ำเรียนมานั้น เอามาใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด แต่อย่างว่าละครับ คงต้องใช้เวลาพอสมควร หากทำเว็บอย่างเดียว โดยไม่มีรายได้ ชีวิตก็คงอยู่ไม่ได้ เจ้าหนี้ก็โทรมาทวงเช้า ทวงเย็น 

เงินเดือน เงินดาวน์ก็ผ่อนชำระหนี้ที่กู้ยืมในระหว่างเรียน ได้รสชาติของชีวิตไปอีกแบบ

ชีวิต ณ ปัจจุบันจำเป็นต้องเลือก หรือถอยหลังประมาณ ๑๐ ก้าว เพื่อที่จะวิ่งและกระโดดข้ามสิ่งกีดขวางนั้นให้ได้ครับ

ช่วงที่ห่างหายไปนั้น ก็อยู่ตามท้องไร่ ท้องนา พูดคุยกับชาวบ้าน โดยเฉพาะการได้สนทนากับบุคคลที่ได้ชื่อว่าเป็นปราชญ์ชาวบ้าน ทำให้ผมรู้สึกว่าความรู้ที่ร่ำเรียนมาในตำรานั้น สู้การได้พูดคุยและได้สัมผัสกับแง่มุมในความเป็นจริงของสังคมไม่ได้ 

และนั่นก็คือประกายแห่งความหวังที่ผมจะนำความรู้ที่ร่ำเรียนมา ผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่นและ
ความเป็นจริงของสังคมชนบท ถ่ายทอดสู่ท่านผู้อ่านทั้งหลายนี่แหละครับ


ความเดิมตอนที่แล้ว (ปฏิรูปการศึกษาแบบเกษตรอินทรีย์ ๒)

 คำสำคัญ

ข้าวโตเร็ว, ดินขาดคุณภาพ, เกษตรกรเป็นหนี้, ชุมชนล่มสลาย, โรคฉี่หนู ฯลฯ

การสอบเทียบ, การเรียน-การสอนพิเศษ, โรงเรียนกวดวิชา, เด็กฆ่าตัวตาย, ขาดจิตสำนึก-คุณธรรม ฯลฯ

....

เมื่อ ๒-๓ สัปดาห์ที่ผ่านมา มีโอกาสได้ดูข่าวในทีวี เจอข่าวเกี่ยวกับเด็ก ๒ ข่าว 

ข่าวแรกเด็กอายุ ๙ ขวบฆาตกรรมเด็กอายุ ๓ ขวบ ตามข่าวแจ้งว่าแย่งของเล่นกัน

อีกข่าวที่น่าสลดใจพอกันก็คือ เด็กชายชั้น ป.๖ รุมทำร้ายและกระทำชำเราเด็กหญิงในชั้นเดียวกัน

...

เศร้าและสลดใจเหลือเกินกับสังคมไทยปัจจุบัน ซึ่งทั้ง ๒ ข่าวระบุด้วยว่า เด็กพยายามจะกระทำตามสื่อที่ได้พบเห็นมา ... 

สื่อมวลชนในเมืองไทยไม่ทั้งหมด ก็ปากว่าตาขยิบกันละครับ ...

ไม่ได้ว่าเหมารวมทั้งหมดนะครับ ใครเป็นใครประชาชนอย่างเราๆ ท่านๆ ก็พอจะตัดสินกันได้

หากจะเชื่อมโยงเรื่องราวทั้งหมดเข้ากับเรื่องที่ผมกำลังจะเขียนนี้ หลายท่านก็คงจะคาดเดาสงสัยไปต่างๆ นานา ว่าผมจะจับมาโยงกันได้อย่างไร กับการปฏิรูปการศึกษาแบบเกษตรอินทรีย์  

ในความคิดผมที่จะเขียนตอนแรก มันก็มีแนวคิดอยู่ แต่พอเจอเหตุการณ์ปัจจุบันทันด่วนเข้า ก็เลย
จะพยายามหาแง่มุม หาประเด็นมาจับเขียนให้มันเข้ากันกับสิ่งที่ตั้งใจไว้

อย่างที่ผมได้ให้คำสำคัญไว้ เมื่อคราวที่แล้ว ไม่รู้ว่าแต่ละท่านที่ได้เข้ามาอ่านมีความเห็นอย่างไรกันบ้าง ดูๆ ไปแล้ว ผมทำเว็บแบบเงียบเหงามากนะครับ ไม่ค่อยมีปฏิสัมพันธ์จากผู้อ่านกันบ้างเลย

นี่ก็ถือเป็นจุดด้อยในการทำเว็บเช่นกัน

เข้าเรื่องนะครับ ในตอนที่แล้ว ผมได้กล่าวถึงเรื่องราวของภาคเกษตรกรรมในบ้านเรา ทำให้เกษตรกรไทยประสบกับปัญหาหนี้สินพะรุงพะรังมากระทั่งทุกวันนี้

และปัญหาดังกล่าวนั้น ก็เกิดมาจากการที่เราไปเลียบแบบระบบเกษตรกรรมของประเทศตะวันตก ซึ่งมุ่งเน้นผลิตเพื่อการส่งออกเป็นหลัก

เป็นการเลียนแบบที่ไม่ได้ดูที่มาที่ไป หรือรากเหง้าของฝรั่งว่าแตกต่างจากบ้านเราอย่างไร หรือตามแบบไม่ดูตาม้าตาเรือ

ผมได้อ่านหนังสือของพระธรรมปิฏก (ป.อ.ปยุตฺโต) เมื่อครั้งยังเป็นพระราชวรมนี ชื่อ "มองอเมริกา มาแก้ปัญหาไทย" ซึ่งพิมพ์ตั้งแต่ปี ๒๕๒๖ แต่เนื้อหาสาระยังคงเป็นปัจจุบันและควรค่าสำหรับนักการศึกษาทั้งหลายที่คิดจะมาแก้ปัญหาระบบการศึกษาให้สอดคล้องกับความเป็นจริง

เรื่องการตามอย่างฝรั่งของสังคมไทย ท่านได้กล่าวไว้ ดังนี้

  • "บางอย่าง เราตามแต่เปลือก ไม่ได้เอาเนื้อมาด้วย"

  • "บางอย่าง เราตามฝรั่ง แต่ล้ำหน้าฝรั่งเลยไป"

  • "บางอย่าง เราตามฝรั่ง แต่ไม่ครบกระบวน"

  • "บางอย่าง ไปตามเรื่องที่ฝรั่งเองก็ผิดอยู่แล้ว ก็เลยผิดไปด้วย"

ก็ลองคิดวิเคราะห์กันดูนะครับว่า ตรงไหนบ้างที่เราเป็นอย่างที่ว่า ได้คำตอบอย่างไรก็ส่งๆ มาให้กันอ่านบ้างนะครับ และในหนังสือเดียวกันนี้ 

เกี่ยวกับตามก้นฝรั่งแทบจะทุกเรื่องของสังคมไทยนี้ ได้มีฝรั่งนายหนึ่งได้มาทำวิจัยเรื่องการพัฒนา
ในประเทศไทย และเขียนผลงานออกมาในชื่อว่า "Modernization Without Development" หรือใน
ชื่อภาษาไทยว่า "ทันสมัย แต่ไม่พัฒนา"  ซึ่งท่านพระธรรมปิฎก ท่านได้นำมาเป็นตัวอย่างไว้อย่างน่าสนใจ และผมก็เห็นว่าเรื่องนี้แม้จะเขียนตั้งแต่ปี ค.ศ.๑๙๖๑ หรือเกือบ ๓๐ ปีแล้ว แต่นั่นคือความ
เป็นจริงของสังคมไทยในปัจจุบัน

ขออนุญาตยกคำกล่าวในหนังสือมาเล่าสู่กันฟังนะครับ เพราะถือว่า เนื้อหาครบถ้วนสมบูรณ์

"...คำว่า ทันสมัย ก็อย่างหนึ่ง พัฒนาก็อย่างหนึ่ง ไม่ใช่อย่างเดียวกัน ประเทศไทยอาจมีความเจริญรุ่งเรืองในภายนอก ในทางวัตถุ ... มีการปกครองแบบประชาธิปไตย มีระบบเศรษฐกิจแบบตะวันตก แต่ในแง่เนื้อหาแล้วไม่พัฒนาเลย ..." 

นี่นาย Norman Jacobs เขานำเสนอผลงานวิจัยของเขาดังนี้ เราก็ต้องรับฟังและพินิจพิจารณาดูว่าที่เขาว่านั้นจริงหรือเปล่า ไม่ใช่ว่า พอเขาว่าอะไรมาแล้วจะไม่ยอมรับ บอกปัดกันให้วุ่นวายไปหมด

จากงานวิจัยดังกล่าวเมื่อ ๓๐ ปีที่ผ่านมา ดูสิว่า ในระบบการศึกษาของบ้านเรา เป็นอย่างที่เขาว่าไว้จริงหรือเปล่า ผมขอยกตัวอย่างง่ายๆ นะครับ

เรื่องคอมพิวเตอร์ในโรงเรียน โครงการอินเทอร์เน็ตในโรงเรียน หรือโครงการอินเทอร์เน็ตตำบล ที่รัฐบาลกำลังผลักดันให้เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ ในแง่ของความทันสมัยนั่นแหละ ...
ใช่เลย

ส่วนในแง่ของการพัฒนาแล้ว เราต้องหันมายอมรับสภาพว่า จริงๆ แล้ว คุณภาพของบุคลากรที่มีอยู่ในระบบการศึกษาปัจจุบันพร้อมที่จะรับตรงนี่หรือไม่ หรือว่า เอาเข้าไปไว้ก่อน เพราะบริษัทคอมพิวเตอร์ต่างๆ ที่ผลิตสินค้าออกมาแล้ว ไม่รู้จะเอาไปปล่อยขายที่ไหน ก็โยนเข้ากับระบบการศึกษาไว้ก่อนเพื่อให้ดูทันสมัย

จริงเท็จอย่างไร ลองคิดกันเอาเอง

อีกประการหนึ่ง เรื่องการตามฝรั่งแต่เรากลับล้ำหน้าไปเลย ก็คือเรื่อง กิจการบันเทิงทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นบาร์ คาเฟ่ ไนท์คลับทั้งหลาย เราก็ตามก้นฝรั่งมา แต่ปรากฏว่า ณ วันนี้เราล้ำหน้า และล้ำหน้าไปมาก จนถึงกับต้องมาจัดระบบระเบียบสังคมกันใหม่ เป็นเหตุให้ผู้ประกอบการที่มีไม่กี่เปอร์เซนต์ของประชากรไทย แต่ส่วนใหญ่เป็นผู้มีอันจะกินเดือดร้อน และประท้วงกันให้วุ่นวาย โดยไม่คำนึงถึงอนาคตของประเทศชาติ (ได้ข่าวว่าประเทศไทยครองแชมป์ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากที่สุดในโลก -- คุณว่าน่าภูมิใจหรือสมเพช)

แล้วทำไมระบบการศึกษาที่เราตามหรือลอกแบบเขามาถึงไม่ยอมพัฒนาล้ำหน้าเขาบ้าง เคยนึกสงสัยกันบ้างหรือเปล่า

ตอนนี้ทุกส่วนภาคที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาก็พยายามที่จะปฏิรูป แก้ปัญหาระบบการศึกษาไทยให้ทันสมัยทัดเทียมนานาอารยประเทศ โดยให้ยึดเด็กเป็น "ศูนย์กลาง" เด็กบางคนบอกว่า เดี๋ยวนี้ครูให้เด็กเป็น"Center Point" กันหมดแล้ว

ส่วนตัวครูเอง ก็พยายามทำผลงานให้ได้มากที่สุด เพื่อที่จะเป็นครูต้นแบบ ครูดีเด่น ครูแห่งชาติ ครูอะไรต่อมิอะไรมากมายก่ายกอง

และเพื่อที่จะให้ได้มาซึ่งตำแหน่งนั้น ก็ต้องมีหลักฐานเอกสารเพื่อให้ผู้พิจารณาได้อ่านเอกสารว่าตัวครูนั้นทำอะไรไปบ้าง และเอกสารนี่ไม่ใช่ทำวันเดียวเสร็จนะครับ เป็นเดือน เป็นเทอม เป็นปี ในช่วงที่เร่งทำผลงานนั้น การเรียนการสอนในห้องก็ขาดหายไปสิครับ

เด็กๆ ก็ถูกสั่งให้ทำงาน เพราะเด็กเป็น "ศูนย์กลาง" เรียนเองค้นเองสิครับ ครูก็มีหน้าที่เอาผลงานที่เด็กทำเด็กค้นคว้านี้แหละ รวบรวมเป็นผลงานเอกสารไปให้คณะกรรมการพิจารณา

ทั้งครูทั้งเด็กต่างก็เป็นการเรียนระบบเอกสารกันแล้วเดี๋ยวนี้ ที่ว่าไปนี้ไม่ใช่พูดกันลอยๆ นะครับ ผมเองอยู่ในแวดวงครูมาทั้งชีวิต เพื่อนฝูงเป็นครูก็มากมาย เจอกันก็สนทนากันเรื่องระบบการศึกษาไทยนี่แหละ

ครูบางคนไม่สนใจที่จะทำผลงาน หากแต่สนใจว่าเด็กในห้องนั้นจะเป็นอย่างไรมากกว่า โดยเน้นที่จะให้ความรู้กับเด็กให้มากที่สุด แต่ครูแบบนี้ไม่มีเอกสารเสนอเจ้านาย เพราะทุ่มเทให้กับตัวเด็กมากกว่าเอกสารเมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ถูกผู้บริหารตำหนิว่าไม่ทำผลงานบ้าง

เป็นอย่างนั้นไป ... เป็นใครจะไม่ท้อ

ทุกวันนี้ ครูทุกคนจำเป็นที่จะต้องใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการจัดทำเอกสารผลงาน ก็เข้าสู่ช่องทางของบริษัทคอมพิวเตอร์อีก เร็วๆ นี้ก็มีคอมพิวเตอร์เงินผ่อนสำหรับครูที่เป็นสมาชิกสหกรณ์มาให้ได้ผ่อนกัน

มืดฟ้ามัวดินกันละครับ ผมก็แวะไปดู เชื่อไหมครับว่า การซื้อคอมพิวเตอร์ของครูหลายๆ คนในชนบทนั้นต้องเอาแบบที่แพงที่สุดและ spec สูงที่สุด ประเภท Pentium 4 ทำนองนั้น เพื่อจะเอาไปพิมพ์เอกสาร

 

ไอ้ตัวผมเองทุกวันยังใช้แค่ MMX 233 อยู่เลย และเพื่อนฝูงน้องนุ่งหลายๆ คนที่เรียนมาด้วยกันก็ใช้
เครื่องในระดับเดียวกับผม ทำ CAI ทำเว็บไซต์ ออกมามากมาย (ปัจจุบันใช้ Pentium celeron 1 GB, กับ Cyrix 600 -๕ ส.ค.๕๖)
 

นี่ก็โยงเข้าเรื่อง "ทันสมัย แต่ไม่พัฒนา" ได้เช่นกัน

นึกย้อนไปเมื่อครั้งที่ผมกับเพื่อนๆ ร่วมกันเปิดห้างหุ้นส่วนเพื่อจำหน่ายคอมพิวเตอร์ในปี ๒๕๓๙ ซึ่งกลุ่มเป้าหมายหลักของผมก็คือครูในจังหวัดสุรินทร์นี่แหละ โดยที่ผมเน้นว่า ครูจะต้องใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษาให้ได้ ให้เป็น เชื่อไหมครับว่า ไม่มีใครคิดว่าจะเป็นไปได้

ทุกวันนี้ร้านคอมพิวเตอร์เกลื่อนสุรินทร์ อินเทอร์เน็ตคาเฟ่ มีให้เด็ก Chat ไม่รู้กี่ร้อยเครื่อง

อย่างที่ผมเคยเขียนไว้ในเรื่อง "หนึ่งโรงเรียน หนึ่งบทเรียน" ตอนนี้เมื่อครูส่วนใหญ่เริ่มหันมาใช้คอมฯ แล้ว ความเป็นไปได้ในเรื่องที่ว่า อาจจะเป็นไปได้ ทั้งนี้ก็อยู่ที่ว่า ระดับสูงๆ นั้นมองเห็นความสำคัญของตรงนี้หรือเปล่า

...

ในเมื่อเราจะปฏิรูปการศึกษาแล้ว คนที่ควรจะปฏิรูปที่สุดก็คือ "ครู" นี่ละครับ ไม่ใช่นักเรียน การสร้างครูให้มีพร้อมทั้งคุณภาพ คุณธรรม จริยธรรม เมตตาธรรม และความที่ต้องการให้ศิษย์ได้ดี ไม่ใช่สอนตามบทบาทหน้าที่เท่านั้น

ที่นี้ทำอย่างไร สมมุติว่าครูเป็นเกษตรกร นักเรียนเปรียบเสมือนต้นข้าว ดินคือความเป็นจริงของสังคมไทยระบบการศึกษาปัจจุบันที่เหมือนกับเกษตรเคมีที่เร่งผลผลิตและเน้นรายได้เฉพาะหน้า

ดินก็เสื่อมคุณภาพไปแล้ว ผลผลิตของข้าวที่ได้มาก็เต็มไปด้วยสารเคมีและสารพิษ ครูก็พยายามที่จะใช้ระบบการศึกษาแบบใหม่ที่เน้นแบบตะวันตกและดึงตัวเด็กออกจากความเป็นจริงของสังคมไทย

อย่างไรก็ตาม ยังมีเกษตรบางกลุ่มที่พยายามจะหันกลับไปใช้วิถีชีวิตแบบเดิม คือการพึ่งพาตนเองให้มากที่สุด อันเป็นที่มาของเกษตรอินทรีย์หรือการทำเกษตรกรรมแบบเกื้อกูล โดยอาศัยหลักของธรรมชาติ

"...ประเทศที่พัฒนาแล้ว ไม่ใช่ประเทศที่เอาแต่ผล แต่ต้องเป็นนักสร้างเหตุ สังคมที่เสวยผลไม่ใช่สังคมที่พัฒนา สังคมที่จะพัฒนาคือสังคมที่สร้างเหตุ การที่จะสร้างเหตุได้ ก็ต้องรู้ถึงสาเหตุ ไม่ดูเพียงปัจจุบัน แต่ต้องสืบเสาะอดีตให้ดีว่าประเทศเหล่านั้นเจริญรุ่งเรืองมาได้อย่างไร" (ทศวรรษธรรมทัศน์พระธรรมปิฎก)

 

เอกสารประกอบการเขียน
พระราชวรมุณี (ประยุทธ์  ปยุตโต)
มองอเมริกา มาแก้ปัญหาไทย, ๒๕๒๖
พระธรรมปิฎก
ทศวรรษธรรมทัศน์พระธรรมปิฎก หมวดศึกษาศาสตร์, ๒๕๔๓

ด้วยจิตคารวะ



คำ "ติ-ชม" ของท่านมีค่ามหาศาลต่อการพัฒนาเว็บไซต์ครั

created by.
กระดานดำออนไลน์
775/11 Sukhapibarn 4 Rd. Tambol.Ra-ngang
Sikhoraphum District, Surin Province.Thailand 32110

email : jakrapog@hotmail.com 
๙ กันยายน ๒๕๔๔
ปรับปรุง ๕ สิงหาคม ๒๕๔๖