กับเรื่องราวจากไอ้หนุ่มหน้ามล คนลูกทุ่ง เมืองศีขรภูมิ

"ปฏิรูปการศึกษาแบบเกษตรอินทรีย์ ๒"

กว่าจะได้ฤกษ์จรดปลายนิ้วลงบนแป้นคีย์บอร์ด ก็ทิ้งเวลาจากครั้งสุดท้ายเกือบ ๒ สัปดาห์ (อ่านว่า "สับ-ดา)
ขืนเป็นอย่างนี้บ่อยๆ มีหวังท่านผู้อ่านหายหน้าหายตากันหมดแน่ แต่อย่าเพิ่งไปไหนเลยครับ แวะเวียนมาเยี่ยม
มาหากันบ่อยๆ หากผมไม่ได้เขียนหรือนำเสนอเรื่องราวอันได ท่านก็ช่วยๆ ผมเขียนหรือถามอะไรก็ได้ลงใน
กระทู้ 

ดูจากสถิติการเข้ามาเยี่ยมชมเว็บไซต์ผมแล้ว เฉลี่ยราวๆ วันละ ๕๐-๖๐ คน อาจจะเป็นคนเดิมเสียเป็น
ส่วนใหญ่ นอกนั้นก็เผลอหรือหลงเข้ามาโดยไม่ได้ตั้งใจ สุดท้ายก็หาทางออกไม่เจอ ติดกับผมจนได้ (ฮา)

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาก็ยุ่งๆ อยู่กับงานประจำ ก็ต้องทำละครับ ไม่ทำก็ไม่มีเงินมาจ่ายค่าชั่วโมงอินเทอร์เน็ต
ค่าโทรศัพท์ ค่ากิน ค่าหนังสือ ค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีกจิปาถะ

โดยเฉพาะเรื่องหนังสือนี่ แถวๆ บ้านผมหาหนังสือคุณภาพอ่านไม่ค่อยได้เสียด้วย อย่างที่เคยเล่าให้ฟังใน
ตอนหนังสือในดวงใจ ... และยิ่งได้ข่าวว่าสำนักพิมพ์มติชนจัดงาน "Happy Book Day" ช่วงสุดสัปดาห์นี้
ทำให้ไอ้หนุ่มหน้ามล คนลูกทุ่ง ขนตาร่วงเป็นแถบ 

อิจฉาครับ ยอมรับโดยดีว่ามีเมียแล้ว เอ๊ยไม่ใช่ อิจฉาคนกรุงเทพครับ คนกรุงเทพหรือคนประเทศไทยนี่
แหละ อะไรดีๆ ก็อยู่แถวนั้นหมด ไม่เหลือเผื่อแผ่มาให้พวกผมได้ลิ้มรสกันมั่งเลย จะคิดกลับไปอยู่กรุงเทพอีก
ก็ดูกระไรอยู่ ... ขอบ่นพอเป็นกษัยนะครับ ... ไม่มีอะไรมากกว่านี้หรอก ก็มีอินเทอร์เน็ตระทึกขวัญอยู่แล้ว

อ้อ!!! ลืมบอกไป ตอนนี้ผมสามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตจากบ้านได้แล้วครับ อยู่ดีๆ มันก็ต่อได้ เลยกลับมา
วิเคราะห์สาเหตุใหม่ ... แต่ก็ยังหาไม่เจอ เอาเป็นว่า สามารถต่อได้นานกว่า ๒๐ นาที เพียงพอที่จะ upload
เลยไม่ต้องไปเป็น "เว็บมาสเตอร์คาเฟ่" แต่อนาคตไม่แน่เด้ออออ อาจจะกลับไปเป็นอีกรอบ


ความเดิมตอนที่แล้ว (ปฏิรูปการศึกษาแบบเกษตรอินทรีย์ ๑)

การศึกษากับการปลูกพืชคงไม่ต่างกัน เมื่อปลูกแล้ว ก็ต้องดูแลให้งอกงาม เพื่อให้ได้ผลผลิตเต็มที่
การศึกษาไทยในปัจจุบันก็เหมือนกับการทำนาเคมี คือเร่งๆ ให้โตเร็วๆ ที่นี้ เมื่อต้นไม้มันโตผิดธรรมชาติ
ผลผลิตที่ได้มันก็อาจจะไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย...

....

คราวที่แล้ว ผมค้างไว้ในเรื่องการปฏิรูปการศึกษาแบบเกษตรอินทรีย์ และก็ทิ้งช่วงจนคดีซุกหุ้นผ่านพ้นไป
แล้ว เรื่องราวของการปฏิรูปการศึกษาก็ยิ่งถูกกล่าวขวัญถึงมากขึ้น ล่าสุดนี้เห็นจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการให้
การศึกษาฟรีสำหรับเด็กไทยว่าจะเอาอย่างไรดี จะลุยกันที่ฐานเป็นหลัก คือเน้นการศึกษาในระดับเด็กอนุบาล
ให้มากๆ และให้เรียนฟรีถึง ม.๓ ส่วน ม.ปลายก็ค่อยว่ากันอีกที

เรื่องราวและทิศทางตามระบบราชการนั้นจะเป็นอย่างไร ผมไม่สิทธิที่จะไปก้าวก่ายหรอกครับ ขอชกวงนอก
ดีกว่า แต่จะเล่าย้ำให้ฟังอีกว่า ระบบเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาในระดับ ม.ปลายนั้น ทำให้เยาวชนตามชนบทมี
มอเตอร์ไซต์ขี่เข้าไปเที่ยวดิสโก้เธคในเมืองมากขึ้น ...

ผมคาดเดาเอาว่า อาจจะมีเคยมีคนเขียนเรื่องราวทำนองนี้ไว้บ้าง แต่ส่วนใหญ่ที่ได้ผ่านตาก็คือการใช้
หลักธรรมมาประยุกต์เข้ากับเรื่องของการศึกษา ทีนี้พอผมได้มาทำงานเกี่ยวกับเรื่องของเกษตรกรในจังหวัด
สุรินทร์ ซึ่งกำลังหันมาสนใจการทำนาแบบธรรมชาติหรือเกษตรอินทรีย์ 

จากการได้พูดคุย สอบถาม สัมภาษณ์และออกสนามสัมผัสกับของจริง ความที่เคยเรียนด้านเทคโนโลยี
การศึกษา โสตทัศนศึกษา มาพอสมควรประเภทมองอะไรก็จะจับเชื่อมโยงเกี่ยวเนื่องกับการศึกษาหรือ
สื่อการเรียนการสอน อะไรทำนองนี้

พอได้พูดคุยกับเกษตรกรตามที่ผมได้นำเสนอเรื่องในไว้ในเว็บไซต์มูลนิธิพัฒนาอีสานนั่นละครับ ก็เลยนึก
ถึงระบบการศึกษาของไทย ที่ไม่ต่างอะไรกับการทำนาของชาวนาบรรพบุรุษของผมเมื่อหลายสิบปีที่ผ่านมา

ในสมัยนั้น ชาวนาเราไม่จนขนาดนี้ครับ คิดดูง่ายๆ ก็แล้วกันครับ ปู่ ย่า ตา ยายผมเป็นชาวนาทั้งหมด
โดยเฉพาะตากับยายนั้นมีลูกถึง ๘ คน ทำนาส่งเสียให้ลูกๆ เรียนจนเป็นครู ๗ คน ส่วนป้าผมคนโต ก็ให้ดูแล
เรือกสวนไร่นาไป

เมื่อครั้งผมยังเป็นละอ่อน ก็ได้ไปใช้ชีวิตอยู่ในเรือกสวนไร่นาของตาที่บ้านนอกนั่นแหละ นอกจากจะทำนา
แล้ว ยังมี พืชผักสวนครัวต่างๆ นอกจากนี้ ยังปลูกหม่อนเลี้ยงไหม เวลายายสาวไหมที่ไร พวกหลานๆ อย่าง
พวกผมก็ได้อิ่มหมีพีมันจากการเอาเศษตัวไหมที่เหลือมาแกะเอาดักแด้คลุกเกลือกิน อร่อยอย่าบอกใคร

เทคโนโลยีในสมัยนั้นที่ทันสมัยที่สุด เห็นจะเป็นวิทยุละครับ รองลงมาคือตะเกียงเจ้าพายุ ผมจะรู้สึกลิงโลด
ใจเป็นอย่างยิ่งหากได้รับหน้าที่เป็นผู้จุดมัน

อีกอย่างที่ยังพอตราตรึงในความทรงจำคือ ครกกระเดื่องครับ ผมยังมีโอกาสได้เหยียบมันบ้าง และพวกเรา
ก็จะได้ข้าวสารจากการสีข้าวแบบธรรมชาตินี่เอง

มาถึงทุกวันนี้ ผลผลิตจากเทคโนโลยีครกกระเดื่องกลับกลายเป็นสิ่งที่ทุกคนแสวงหา เพื่อสุขภาพของตน

ปัจจุบันนี้ตาผมอายุ ๙๑ ปี และยายอายุ ๘๘ สุขภาพยังแข็งแรงสมบูรณ์ ในวันแม่แห่งชาติ ๑๒ สิงหาคม
ที่ผ่านมา ผมยังได้ไปกินข้าวร่วมกับท่านทั้งสองที่บ้านแตลนู้น

ที่ต้องยกเอาเหตุการณ์เก่าๆ มาเล่าให้ฟัง เพราะมันเกี่ยวเนื่องกับสิ่งที่ผมจะกล่าวถึงต่อไปนี่ละครับ

ในอดีตที่ผ่านมานั้น เราเคยได้รับรู้กันว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ส่งออกข้าวมากเป็นอันดับ ๑ ของโลก
และข้าวไทยนั้นก็มีชื่อเสียงมาช้านาน โดยเฉพาะ "ข้าวหอมมะลิ" จากจังหวัดสุรินทร์

และระบบการผลิตของเกษตรกร ยังคงเป็นรูปแบบดั้งเดิม กล่าวคือ ผลิตเพื่อมุ่งตอบสนองความต้องการ
ในครอบครัว ชุมชน และหมู่บ้าน เป็นส่วนใหญ่ โดยจะทำการผลิตสินค้าเกษตรแบบผสมผสานกันไป เช่น
ทำนา ทำสวน เลี้ยงสัตว์ที่ใช้เป็นอาหาร เป็นต้น

สิ่งสำคัญที่อยากจะกล่าวถึงอีกประการหนึ่งคือ เกษตรกรในสมัยนั้นไม่จำเป็นต้องพึ่งพาปุ๋ยหรือสารเคมี
รวมทั้งยาปราบศัตรูพืช จากคำกล่าวที่ว่า "ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว" หากใครได้มีโอกาสใช้ชีวิตชนบทในฤดู
ทำนา คงซาบซึ้งจะคำๆ นี้ดี

ถึงฤดูทำนาชาวบ้านก็มา "ลงแขก" ช่วยเหลือกันหมุนเวียนกันจนครบกันทั้งหมู่บ้าน

ปลาดุก ปลาหมอ ปลาช่อน แหวกหวายในกอข้าว ที่ระบัดใบเขียวไปทั่วทุ่ง สามารถปักเบ็ดและขุดหลุม
ดักปลาเหล่านี้ เป็นอาหารกินกันได้ทั้งฤดู ที่เหลือก็แปรรูปเป็นปลาแห้ง ปลาร้า ปลาจ่อม เก็บไว้กินต่อไปได้

พอเก็บเกี่ยว นาใครพร้อมก่อน ชาวบ้านก็พร้อมใจกันลงแขกเก็บเกี่ยวกับอีกรอบ ก็ได้ปลาร้า ปลาจ่อม
ที่ทำไว้ตอนข้าวแตกกอนั่นแหละ และนาใครมีสระก็วิดน้ำที่ขอดออก ได้ปลามาต้มยำทำแกง ทำน้ำพริก
และเก็บผักแถวๆ นั้นมาแกล้มอร่อย 

ส่วนผู้ชายก็อาจมีของแถมที่ทำให้กระชุ่มกระชวย เรียกเรี่ยวแรงกลับคืนมา นั่นคือ "สาโท" ภูมิปัญญา
ชาวบ้านขนานแท้ ที่อยู่คู่โลกมานานแสนนาน แต่กลับถูกนายทุนไม่กี่กลุ่มใช้อำนาจเงินกดขี่ภูมิปัญญาเหล่านี้
ไปอย่างน่าเสียดายในปัจจุบัน

นั่นเป็นภาพของเกษตรกรในอดีตที่รางเลือนไปทุกขณะและคงจางหายไปในที่สุด 

เหตุที่เป็นเช่นนี้ สืบเนื่องมาจากการพัฒนานั่นเอง เมื่อไทยได้รับอิทธิพลของการผลิตมาจากตะวันตก
มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเกษตรแบบผสมผสานไปเป็นการเกษตรแบบเชิงเดี่ยว ที่มุ่งเน้นผลผลิตเพื่อ
การส่งออกเพื่อนำรายได้เข้าประเทศให้มากที่สุด

แรงงานคน สัตว์ และความเอื้ออาทรต่อกัน ถูกทดแทนด้วยเครื่องจักร  มีการใช้ปุ๋ยและสารเคมี รวมทั้ง
ยาปราบศัตรูพืช เพื่อเร่งผลผลิตให้ได้มากที่สุด

นอกจากนี้ ยังมีข้าวพันธุ์ใหม่ๆ จากต่างประเทศที่ให้ผลผลิตเร็วและราคาดี มาทดแทนข้าวพันธุ์พื้นเมือง

ใครจะไม่อยากรวยละครับ ก็รัฐบาลเห็นดีเห็นชอบด้วย ต่างคนก็แห่กันไปทำนาเชิงเดี่ยว ด้วยความหวังว่า
จะร่ำจะรวยอย่างประเทศที่เจริญแล้ว

ไม่กี่ปีนับจากนั้น ข้าวพันธุ์ใหม่ที่ได้รับจากต่างประเทศ กลายเป็นแหล่งอาหารสำคัญของเพลี้ยกระโดด
สีน้ำตาล ที่นาเสียหายกว่า ๓.๕ ล้านไร่ ข้าวเปลือกเสียหายกว่า ๓ ล้านตัน ที่แย่ไปกว่านั้นคือ พี่น้องเกษตรกร
ไทยต้องประสบปัญหาเหล่านี้กว่า ๑ แสนครอบครัว มูลค่าความเสียหายครั้งนั้นกว่า ๑๐,๐๐๐ ล้านบาท

จากปัญหาที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบต่อเนื่องมาจนกระทั่งวันนี้ เมื่อชาวนาต้องขายที่ดิน อพยพแรงงาน ดังที่
เห็นและเป็นอยู่ในปัจจุบัน และนั่นคือจุดกำเนิดของคำว่า "ชุมชนล่มสลาย"

"เจ็บแต่ไม่จำ" 

ขออนุญาตใช้คำนี้นะครับ ถึงแม้ว่าทุกคนจะรู้ซึ้งถึงปัญหาและสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ก็ยังคงมุ่งหน้าทำเกษตรแบบ
เชิงเดี่ยวอยู่นั่นเอง ส่วนหนึ่งก็มาจากความคิดของโลกตะวันตก ที่ไม่มีความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรเช่น
บ้านเรา  

แต่เขากลับทำให้ผู้นำของเราในสมัยนั้นเปลี่ยนแปลงความคิด และกลับมาเปลี่ยนวิถีชีวิตของเกษตรกรไทย

เมื่อครั้งที่ไปสหรัฐนั้น ผมได้ไปเห็นเมืองที่ทำเกษตรกรรม (Fresno)  บ้านเขาปลูกองุ่นก็ปลูกกันเป็นแถว
ปลูกแอ๊บเปิ้ลก็ปลูกกันเป็นแถว ไม่รู้กี่หมื่นกี่แสนไร่ เพราะเมืองเขาเป็นทะเลทรายและใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย
ช่วยในการผลิต มีเครื่องบินเล็ก บินหว่านปุ๋ยและสารเคมี แถมมีรถแทร็คเตอร์ไว้คอยเก็บเกี่ยว เขาใช้คน
ไม่กี่คนหรอกครับ 

แต่พื้นฐานความรู้ของคนบ้านเขากับบ้านเรานั้นแตกต่างกันมากนัก เกษตรกรบ้านเขาถึงได้ร่ำได้รวย

ที่นี้ย้อนกลับมาที่บ้านเรา ที่มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรพร้อมทุกอย่าง "ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว"
กลับต้องไปทำตามเขา ลืมวิถีแบบเก่าๆ จนหมด ปลูกข้าวก็แห่ปลูกกันเป็นแถว ไม่ปลูกอย่างอื่นไว้บ้าง
ปุ๋ยหรือสารเคมี ก็ตะบี้ตะบันใช้กันเพื่อเร่งผลผลิต แล้วเป็นยังไงครับ

"เลปโตสไปโรซีส" หรือ "โรคฉี่หนู" ผลพวงจากการทำนาแบบเคมี ก็มาเยือนนะสิครับ มนุษย์ผู้ยกย่องตนเอง
ว่าเป็นสัตว์ประเสริฐ ก็ไปโยนความผิดให้กับสัตว์ตัวเล็กๆ ที่อยู่ในท้องนามาช้านาน ซึ่งก็เป็นอาหารของมนุษย์
เช่นกัน เนื้อหนูนาเขาว่าอร่อยนักแล ทุกวันนี้กล้ากินกันหรือเปล่าละครับ

เพื่อป้องกันโรคฉี่หนู ต้องใส่รองเท้าบู้ทหรือรองเท้านินจาในการทำนา เพราะโรคฉี่หนูนี่ถึงตายนะขอรับ

จะมีสักกี่คนที่คิดว่าเหตุนั้นเกิดจากคนเรานั่นเอง

เรามาดูสิว่า ปัญหาจากการทำนาเคมีนั้น นอกจากที่กล่าวมาแล้ว สิ่งที่สำคัญยิ่งยวดอีกประการหนึ่งนั่นคือ
เรื่องรายได้ จากการศึกษาและสำรวจค่าใช้จ่ายในการทำนาเคมีแต่ละครั้งนั้น จะต้องใช้ต้นทุนอะไรบ้าง
และหากบวกลบแล้ว คุ้มหรือไม่คุ้ม

 

ค่าดำเนินการ รายจ่าย
ค่าไถ 150 บาท
ค่าหว่านดำ 400 บาท
ค่าดูแลรักษา 800 บาท
ค่าเก็บเกี่ยว 360 บาท
ค่านวด-ขนส่ง 180 บาท
ค่าพันธุ์ข้าว 25 ก.ก./ไร่ 250  บาท
ค่าปุ๋ยเคมี ยาปราบศ้ตรูพืช
น้ำมันเชื้อเพลิง/ไร่
1,600 บาท
เบ็ดเตล็ด 100 บาท

รวม

3,840 บาท

ผลผลิต/ไร่ เฉลี่ย 320 ก.ก.
ก.ก.ละ 8 บาท

2,560 บาท

รายได้ - รายจ่าย

-1,280 บาท

ขาดทุนนะครับ ทำนาทุกวันนี้ ถามว่าชาวนาทุกคนรู้ไหม ทุกคนตอบว่ารู้ แต่ว่าก็ไม่รู้จะไปทำอะไร ถ้าไม่
ทำนาก็ต้องไปขายแรงงาน นี่เป็นตัวเลขคร่าวๆ ยังไม่นับค่าแรง ค่ากินอยู่ของตัวเกษตรกร

พอมาถึงตรงนี้แล้ว ท่านคงพอจะรู้แล้วนะครับว่า นโยบายพักหนี้ หรือ โครงการกองทุนต่างๆ ทำไมถึงถูกใจ
เกษตรกรและชาวบ้านกันนักหนา

พอผมได้มาทำงานกับชาวบ้านก็พอจะทราบว่า มันมีทั้งข้อดีและข้อเสีย หากแต่ข้อเสียนั้นมีมากกว่า 
เนื่องจากการขาดความรู้ความเข้าใจในกฎระเบียบต่างๆ การขาดวินัยและความรับผิดชอบในการใช้เงิน

และอีกหลายๆ อย่างที่คนในระดับผู้นำรู้ดี แต่ผมจะไม่ขอกล่าวถึงเรื่องนี้ก็แล้วกันนะครับ เดี๋ยวจะยาว
(แค่นี้ก็ยาวแล้ว)

เมื่อเห็นตัวเลขแล้ว นั่นเป็นการสูญเสียทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว ไม่นับถึงคุณภาพของดินที่ต้องเสีย
แร่ธาตุไป จากการปลูกพืชเพียงอย่างเดียว

(อนาคตของการเลี้ยงกุ้งในนาข้าวก็คงเป็นอีหรอบเดียวกันนี้ละครับ)

จากสาเหตุดังกล่าว จึงมีเกษตรกรบางกลุ่มเห็นว่าหากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป คงไปไม่รอดแน่ จึงได้หัน
กลับมาทำนาแบบธรรมชาติ และยึดเอาแนวพระราชดำริ "แบบพอเพียง" มาปรับใช้

อ่านถึงตรงนี้แล้ว ลองโยงเข้ากับระบบการศึกษาไทยดูสิครับว่า "การทำนาไทยกับการศึกษาไทย" มัน
เหมือนหรือต่างกันตรงไหน อย่างไร (อ่านแนวตอบข้างล่าง)

และการทำนาแบบธรรมชาติ เพื่อนำไปสู่วิถีเกษตรกรรมแบบดั้งเดิม แต่เราจะได้มาซึ่งความอุดมสมบูรณ์
ของทรัพยากรและความเอื้ออาทรต่อกัน

แต่ทั้งนี้ต้องใช้เวลากว่า ๑๐ ปี ... คราวหน้าเราจะมาว่ากันต่อครับ

...

คำสำคัญ

ข้าวโตเร็ว, ดินขาดคุณภาพ, เกษตรกรเป็นหนี้, ชุมชนล่มสลาย, โรคฉี่หนู ฯลฯ

การสอบเทียบ, การเรียน-การสอนพิเศษ, โรงเรียนกวดวิชา, เด็กฆ่าตัวตาย, ขาดจิตสำนึก-คุณธรรม ฯลฯ

เอกสารประกอบการเขียน
สูจิบัตร "ทำไมสุรินทร์ต้องเป็นเกษตรอินทรีย์"
นิตยสารสารคดี ฉบับที่ ๑๕๕  มกราคม ๒๕๔๑ 
" เกษตรกร ปลอดสารพิษ"

ด้วยจิตคารวะ



คำ "ติ-ชม" ของท่านมีค่ามหาศาลต่อการพัฒนาเว็บไซต์ครั

created by.
กระดานดำออนไลน์
775/11 Sukhapibarn 4 Rd. Tambol.Ra-ngang
Sikhoraphum District, Surin Province.Thailand 32110

email : jakrapog@hotmail.com 
๑๓ สิงหาคม ๒๕๔๔