กับเรื่องราวจากไอ้หนุ่มหน้ามล คนลูกทุ่ง เมืองศีขรภูมิ

"ปฏิรูปการศึกษาแบบเกษตรอินทรีย์"

ชั่วขณะนี้ใครก็ตามที่อยู่ในแวดวงการศึกษาคงได้ยินคำว่า "ปฏิรูปการศึกษา" กันแทบทุกวัน บางคนถึงกับ
เอียนกับคำๆ นี้ไปเลยก็มีไม่น้อยเช่นกันทำไมต้องปฏิรูป ปฏิรูปทำไม ปฏิรูปแล้วได้อะไรหรือต้องแก้ไขด้วย
การปฏิรูป บางครั้ง บางครา ผมได้ยินคำๆ นี้บ่อยๆ จนกระทั่งงงกับความหมายของมันเลยก็มี

เปิดพจนานุกรมนักเรียน ฉบับปรับปรุง ปี ๒๕๓๕ ให้ความหมายของคำปฏิรูปไว้ดังนี้

  • ปฏิรูป [ปะติรูบ] ว. สมควร, เหมาะสม: เทียม, ไม่แท้, เช่น มิตรปฏิรูป, ก. ปรับปรุงให้สมควร เช่น ปฏิรูปบ้านเมืองปฏิรูปที่ดิน ก. ปรับปรุงที่ดินให้เหมาะสม

เมื่อเอาคำว่า "ปฏิรูป" มารวมกับคำว่า "การศึกษา" ก็เลยเป็น "ปฏิรูปการศึกษา" ที่นี้ก็ลองแปลความหมายดูนะครับ

  • การศึกษาไม่แท้, การศึกษาเทียม ปรับปรุงการศึกษาให้สมควร ให้เหมาะสม

คงไม่ต้องถามละครับว่าจะเลือกเอาคำพูดไหน ความจริงผมก็ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการปฏิรูปการศึกษา
กับเขาหรอกครับ เพียงแต่ขอใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ หมวด ๓
สิทธิเสรีภาพของชนชาวไทย มาตรา ๓๙
"บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน
การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น ..."

และตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ หมวด ๑ บททั่วไป ความมุ่งหมายและหลักการ ข้อ ๖ "การมีส่วนร่วมของบุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กรชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรเอกชน
องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการและสถาบันสังคมอื่น.

เอาเป็นว่าผมขอใช้สิทธิตามกฎหมายที่อ้างถึงดังกล่าว นะครับ

ได้อ่าน ได้ยิน ได้ฟัง มาหลายกระแส และก็ได้แลกเปลี่ยนมุมมองกับเพื่อนๆ ในแวดวงพอสมควร
กระทั่งเปลี่ยนรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ...เรื่องราวของการปฏิรูปการศึกษา ก็ยังคงวนอยู่ในอ่าง
(ตามความเห็นของผมคนวงนอกนะครับ)

ผมขออ้างแนวคิดของท่านนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ที่กล่าวไว้ว่า

"... การปฏิรูปการศึกษาจะทำ ๓ ขั้นตอนแน่นอนครับ ขั้นตอนแรก คือความตั้งใจจะปฏิรูป อยากเห็น
เด็กไทยได้ดี ขั้นตอนที่ ๒ คือออกกฎหมายบังคับ ส่วนขั้นตอนที่ ๓ ยังไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร ต้องรู้ล่วงหน้าก่อน
เมื่อทำขั้นตอนที่สามแล้วควรจะเป็นอย่างไร..." (ไทยรัฐ ๒๖ มิ.ย.๒๕๔๔) อ่านแล้วก็ไปตีความเอาเองนะครับ

ส่วนอีกแนวคิดหนึ่งของท่านนายกฯ ได้กล่าวถึงความล้มเหลวของการศึกษาในช่วงที่ผ่านมาว่า

"...เนื่องจากไทยลอกเลียนแบบการปฏิรูปการศึกษาของสหรัฐอเมริกา โดยไม่ได้ศึกษาให้ถ่องแท้เสียก่อน
ซึ่งขณะนั้นนายกฯ กำลังศึกษาอยู่ในสหรัฐและรู้ว่าสหรัฐได้ยกเลิกการจัดการศึกษาในรูปแบบดังกล่าวไปแล้ว
เพราะมีปัญหาแต่ไทยกลับนำมาใช้...ทั้งนี้หลักการปฏิรูปการศึกษาของตนจะต้องดำเนินการใน ๓ ขั้นตอน
เช่นเดียวกับหลักในทางพุทธศาสนา คือ ปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ"
(มติชนรายวัน, ๒๖ มิถุนายน ๒๕๔๔)

นั่นเป็นมุมมองและแนวคิดของท่านนายกฯ ผมอ่านแล้วก็คิดวิเคราะห์ไปตามประสบการณ์ของผมละครับ
หากใครสนใจก็ไปหาอ่านได้ตามที่อ้างถึง

ลองมาดูอีกมุมมองหนึ่งของคุณไมเคิล ไรท์ ซึ่งเป็นชาวต่างชาติ แต่แตกฉานเรื่องเมืองไทยมากกว่า
คนไทยเสียอีก ผมคนหนึ่งละที่ต้องยอมรับ ท่านได้กล่าวถึงการปฏิรูประบบการศึกษาไทยไว้ในมติชน
ฉบับเดียวกัน ดังนี้นะครับ ...

"If it ain't broke, don't fix it" ของไม่เสีย อย่าไปแก้มัน (สุภาษิตชาวบ้าน)

ท่านให้แนวคิดไว้เกี่ยวกับ "ระบบการศึกษาไทยไม่ดี" และควรวิเคราะห์ว่า

  • ก. ระบบมีจุดบกพร่องตรงไหน และ 

  • ข. ระบบบกพร่องทำไม 

ก.จุดบกพร่องของระบบใครๆ เห็นพ้องกันว่าระบบการศึกษาไทยมีประสิทธิภาพสูงในการป้อนวิชา
คือการให้ท่องรู้ข้อมูล แต่ขัดขวางยับยั้งสติปัญญาเสรี ความสงสัย การค้นคว้า และความคิดสร้างสรรค์

ข. ทำไมระบบจึงบกพร่อง ได้เสนอแนวคิดส่วนตัวของท่านไว้ ดังนี้ (ผมกล่าวอย่างย่อๆ)

  • ๑. ปัญหาไม่ได้เกิดจากระบบ แต่เกิดจากการเลี้ยงดูอย่างตามใจของพ่อแม่ ต่างจากฝรั่งที่มักขัดใจลูก

  • ๒. ผู้คุมการศึกษาไทยยังยึดหลักที่ว่าวิทยาหรือวิชาความรู้นั้นต้องท่องจำมิให้ผิดเพี้ยน

  • ๓. คนไทยลืมเรื่องกาลามสูตรไปแล้ว คือให้สงสัยในทุกๆ เรื่อง คิดเอง ทดลองเอง

    กาลามสูตร คือธรรมะข้อที่ว่าด้วยความเชื่อ มีอยู่ ๑๐ ข้อ ดังนี้ 
    (จาก กิเลน ประลองเชิง นสพ.ไทยรัฐ ๑๘ มิ.ย.๔๔)
    ๑.อย่ารับนับถือเอา ด้วยเหตุว่าฟังตามๆ กันมา
    ๒ อย่ารับนับถือเอา ด้วยเหตุว่าทำตามๆ กันมา
    ๓. อย่ารับนับถือเอา เพราะเป็นข่าวลือ
    ๔. อย่ารับนับถือเอา ด้วยเหตุว่มีอ้างอยู่ในปิฎก
    ๕.อย่ารับนับถือเอา ด้วยการใคร่ครวญตามวิธีที่เรียกว่าตรรกะ
    ๖. อย่ารับนับถือเอา ดโยเหตุว่าสมเหตุสมผล
    ๗. อย่ารับนับถือเอา ด้วยการตรึกเอาตามอาการ ตามความคุ้นเคย
    ๘. อย่ารับนับถือเอา เพราะคำสอนนั้นเข้ากันได้กับทิฐิตัวเอง
    ๙. อย่ารับนับถือเอา เพราะผู้พูดมีท่าทางน่าเชื่อถอ
    ๑๐. อย่ารับนับถือเอา เพราะผู้สอนเป็นครู
  • ๔. คนไทยมีวัฒนธรรมเคารพยำเกรง ทำให้บูชาครูและตำราจนไม่กล้าแสดงปัญญาของตน

  • ๕. วิชาสมัยใหม่ทั้งหมดมาจากตะวันตกตั้งแต่ ร.๔ ดังนั้นเด็กไทยต้องท่องจำให้ดี ไม่จำเป็นต้องคิดวิเคราะห

  • ๖. การออกแบบระบบการศึกษานั้นชนชั้นปกครองใช้คนที่มีความสามารถแต่ไม่มีความคิดอิสระ

  • ๗. ผู้จัดการการศึกษายังไม่เข้าใจความแตกต่างของคำว่า "วิชา" (knowledge) กับ "ปัญญา" (Intelligence)

ทั้ง ๗ ข้อที่คุณไมเคิล ไรท์ เสนอมานั้น เป็นสิ่งที่ควรคิดพินิจพิจารณาตามเป็นอย่างยิ่ง (ในความคิดของผม
นะครับ) สอดคล้องกับที่ท่านนายกฯ ได้กล่าวถึงครูของตนไว้ว่า

"...ครั้งหนึ่งผมเคยมีครูใจแคบอยู่คนหนึ่ง สอนพิสูจน์เอกลักษณ์ ในวิชาตรีโกณมิติบนกระดาน แต่ก็พิสูจน์
ไม่ได้ ไม่ตรงกันสักที เพราะท่านคิดผิด ผมก็ชี้จุดที่ผิด และว่าต้องเป็นอีกจุดหนึ่ง ครูท่านนั้นก็โกรธผม
พอมีการโหวตหัวหน้าชั้น ผมได้คะแนนสูงสุด แต่ครูท่านนั้นตัดสินสุดท้ายไม่ให้ผมเป็น เพราะโกรธที่ไป
ชี้ว่าท่านทำผิด จุดนี้ครูควรจะต้องใจกว้างและมองเด็กเหมือนลูกหลานที่มีเมตตาธรรมให้ เพราะถ้า
เด็กยิ่งฉลาด เราจะยิ่งมีความสุข"
(ไทยรัฐฉบับเดียวกัน)

ที่ยกตัวอย่างมานั้น คงสะท้อนให้เห็นหลายๆ สิ่งของระบบการศึกษาไทย โดยเฉพาะเรื่องของครูผู้สอน
ผมเองก็เคยเป็นผู้สอนเช่นกันตอนเรียนอยู่ที่จุฬาฯ นั่นแหละสอนวิชาคอมพิวเตอร์เบื้องต้นและการออก
แบบบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน อีกทั้งยังมีโอกาสข้ามน้ำข้ามทะเลไปสอนเด็กถึงประเทศสหรัฐอเมริกา
ที่เราลอกรูปแบบการศึกษาเขามานั่นแหละ ถึงแม้จะเพียงแค่ ๓ เดือน ก็ไม่ใช่สักแต่ว่าสอนนะครับ สังเกต
จดจำ พฤติกรรมต่างๆ ของนักเรียน เท่าที่ผมจะทำได้ .. เห็นแล้วก็ทึ่งครับ ส่วนเรื่องของคอมพิวเตอร์นี่
ทุกวันนี้เด็กบางคนเก่งและฉลาดกว่าครูเสียอีก เราคงต้องยอมรับกันตรงจุดนี้ ผมอยากตะโกนถามดังๆ ว่า
ในประเทศไทยมีครูที่รู้เรื่องอินเทอร์เน็ต อยู่กี่คน และมีนักเรียนที่รู้เรื่องอินเทอร์เน็ตอยู่กี่คน และนโยบาย
การ ให้ทุกโรงเรียนมีอินเทอร์เน็ตนั้น หากพูดภาษากันเองๆ หน่อยก็คงจะพูดได้ว่า
"คงถูกนักเรียนจับกินหมด"

ผมเคยโต้แย้งกับผู้สอนบางคน ครั้งนั้นเพื่อนทั้งห้องเงียบกริบ และบอกไม่ให้ผมเถียงกับผู้สอน
ผมก็แย้งไปว่า ในการเรียนการสอนนั้นเรามีสิทธิที่จะโต้แย้งกับผู้สอน และให้ผู้สอนชี้แจงสิ่งที่เราสงสัยมา
เหมือนกับท่านนายกฯ กล่าวไว้นั่นแหละ .

และเวลาที่ผมไปสอนนิสิตในวิชาคอมพิวเตอร์ซึ่งเรื่องของโปรแกรมคอมพิวเตอร์นี้มันพลิกแพลงได้หลาย
อย่าง ซึ่งให้ผลลัพธ์ออกมาเหมือนกัน ในบางครั้งเราก็ไม่สามารถจะไปค้นหามันทั้งหมดได้ อย่างเช่น
การสร้างตาราง ซึงมันสามารถทำหลายวิธี (ยกตัวอย่างง่ายๆ) บางครั้งเราอาจนึกไม่ถึงว่ามันจะมีวิธีอื่นๆ อีก
พอเราสอนไป เด็กก็บอกว่ามีอีกวิธีหนนึ่ง ผมก็ให้เด็กคนนั้นออกมาสาธิตให้เพื่อนๆ ดู และผมก็เรียนรู้
ไปพร้อมๆ กับเด็กมันไม่เห็นเสียหายตรงไหน ใครมันจะไปรู้ได้ทุกอย่าง ทุกเรื่อง

มาถึงตรงนี้แล้ว เรื่องการปฏิรูปการศึกษานี่คงต้องพูดกันยาวครับ และถึงแม้ว่ารัฐบาลนี้อยู่ครบเทอม
ก็ยังไม่แน่ว่าจะทำกันได้สำเร็จหรือเปล่า ..

และสำหรับความคิดเห็นของผมนั้น ประการแรกที่ผมอยากให้มีก็คือ การให้ความเท่าเทียมทางการศึกษา
นั้นเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมเสียก่อนยกตัวอย่างให้เห็นกันง่ายๆ นะครับ โรงเรียนสาธิตบางแห่งมีทีวีแทบ
ทุกห้องแถมห้องพักครูนี่ก็มีทีวีจอใหญ่ ขนาด ๑๐๐ นิ้ว เห็นจะได้ ในขณะที่ห่างออกจากโรงเรียนนี้ไปไม่ถึง
๑๐๐ กม. โรงเรียนนี้ขาดครู ขาดอุปกรณ์การสอน เด็กๆ ก็ไม่มีเสื้อผ้า หนังสือ มาโรงเรียน

ในต่างจังหวัดก็เหมือนกัน บางโรงเรียนสร้างตึก สร้างห้อง Lab กันใหญ่โต มโหฬาร โดยที่ไม่ได้ตระหนัก 
และคำนึงถึงโรงเรียนที่ห่างออกไปไม่ถึง ๒๐ กม. ที่แทบไม่มีอะไรจะมาเสริมภูมิปัญญาให้กับเด็กๆ 
ครูผู้สอนก็หมดกำลังใจ แล้วจะเอาอะไรไปสอนเด็ก

และตอนนี้บางโรงเรียนที่ถูกถ่ายโอนงบประมาณอาหารกลางวันไปให้องค์การบริหารส่วนตำบลจัดการ
ก็ยังมีปัญหาเรื่องนมบูด อาหารกลางวันไม่ได้คุณภาพ คนที่เสียเปรียบก็ยังคงเสียเปรียบตลอดไป

นโยบายปฏิรูปการศึกษาที่สวยหรูและพูดๆ กันนั้น หากมาดูความเป็นจริงของสภาพการศึกษาไทยแล้ว
กว่าจะเห็นแสงหริบหรี่ที่ปลายอุโมงค์ก็คงต้องใช้เวลาพอสมควร

นอกจากนี้ ครูผู้สอนบางส่วนก็มัวแต่ตั้งหน้าตั้งแต่เขียนผลงานเพื่อจะเลื่อนขั้น ขอขั้น เด็กๆ เป็นอย่างไร
ฉันไม่สน ขั้นขึ้นก็พอใจแล้ว...

เอาละครับ ถึงอย่างไรเราก็คงต้องช่วยกัน ที่กล่าวมานั้นเพียงแต่จะชี้ปัญหาในส่วนที่ตนเองได้พบประสบมา
แม้จะไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการศึกษา ก็อย่างที่บอกตั้งแต่เริ่มต้นแล้ว ขอใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ

ในครั้งหน้าผมจะมาพูดถึงเรื่องการปฏิรูปการศึกษาแบบเกษตรอินทรีย์ ในอดีตประเทศไทยเคยเป็น
ประเทศที่ผลิตข้าวได้ผลดีที่สุดในโลก แต่พอระยะหนึ่งไปเดินตามฝรั่งมังค่า ทำให้เกษตรกรไทยเป็นหนี้
เป็นสินกันทั้งประเทศ มาบัดนี้ เกษตรกรบางกลุ่มเริ่มหันมาสนใจการทำนาแบบธรรมชาติหรือเกษตรอินทรีย์
และผู้ที่ลงมือปฏิบัติจริงก็ได้รับผลสำเร็จจากการกระทำนั้นแล้ว

การศึกษากับการปลูกพืชคงไม่ต่างกัน เมื่อปลูกแล้ว ก็ต้องดูแลให้งอกงาม เพื่อให้ได้ผลผลิตเต็มที่
การศึกษาไทยในปัจจุบันก็เหมือนกับการทำนาเคมี คือเร่งๆ ให้โตเร็วๆ ที่นี้ เมื่อต้นไม้มันโตผิดธรรมชาติ
ผลผลิตที่ได้มันก็อาจจะไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย... คราวหน้าจะมาว่ากันในเรื่องนี้ครับ ...

ด้วยจิตคารวะ



คำ "ติ-ชม" ของท่านมีค่ามหาศาลต่อการพัฒนาเว็บไซต์ครั

created by.
กระดานดำออนไลน์
775/11 Sukhapibarn 4 Rd. Tambol.Ra-ngang
Sikhoraphum District, Surin Province.Thailand 32110

email : jakrapog@hotmail.com 
๒๓ กรกฎาคม ๒๕๔๔