สุวรรณ กันภัย

ผู้พลิกผืนดิน ๙ ไร่ เป็นแหล่งอาหาร, ธนาคารครอบครัว
และสถานศึกษาด้านเกษตรระดับนานาชาติ

"ถ้าวันพรุ่งนี้ หรือวันต่อๆ ไป หากโลกนี้ไม่มีไฟฟ้าใช้ เราจะนึกถึงอะไร...หรือนึกถึงใคร"

จั่วหัวไว้แบบนี้ ไม่ใช่ว่าผมอยากจะกลับไปใช้ชีวิตแบบย้อนยุคนะครับ เพียงแต่เป็นหนึ่งในหลายๆ ความประทับใจต่อบุคคลที่ผมพานพบและคิดว่าน่าจะเป็นสาระและมุมมองในอีกแง่หนึ่งบนกับโลกที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีในวันนี้ ก็เท่านั้นเองครับ ...

ตามเส้นทางถนนลาดยางจากอำเภอศีขรภูมิบ้านเกิดเมืองนอนของผมมุ่งหน้าสู่อำเภอสนม จุดหมายปลายทางที่ห่างกันเพียง ๓๐ ก.ม. ท้องทุ่งสองข้างทางเขียวขจีไปด้วยต้นข้าวที่เริ่มตั้งท้อง รอแปรเปลี่ยนเป็นทุ่งรวงทองในวันข้างหน้า

ผ่านถนนคอนกรีตในตัวเมืองที่บ่งบอกถึงการทำงานของผู้มีส่วนรับผิดชอบได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะไปที่ไหนในชนบท การคอรัปชั่นที่ไม่มีใบเสร็จมักจะถูกฟ้องด้วยผลงานที่เห็นตำตา หากแต่ไม่สามารถทำอะไรได้มากกว่า "แค่เห็น"

สังคมไทยเป็นอย่างนี้มานมนาน ... และอาจจะเป็นแบบนี้อีกนาน

จากถนนคอนกรีตกลายเป็นถนนดิน ผ่านป่าทึบที่เปรียบเสมือนแหล่งอาหารของชุมชน รถจักรยานที่สวนมามีผักปังเต็มตะกร้า ในรัศมีไม่กี่มากน้อยเท่านั้นที่เห็น และแหล่งอาหารตามธรรมชาตินั้นกำลังหดหายไปตามวัฏฏะของโลก

ห่างจากหมู่บ้านสำโรง หมู่ที่ ๙ ตำบลสนม อำเภอสนม ไม่ไกลนัก ท่ามกลางท้องทุ่ง หากใครมาพบเห็นจะต้องสะดุดตากับความเขียวขจีและร่มครึ้ม บนพื้นที่ประมาณ ๙ ไร่ ของลุงสุวรรณ กันภัย เกษตรกรผู้ทรหด ที่ถือเป็นตำนานที่ยังคงมีชีวิตอยู่

แม้อากาศโดยทั่วไปในยามนี้จะร้อนระอุ หากแต่ย่างเข้าไปในบริเวณ "ไร่นา-สวนผสม" ของสุวรรณแล้วเราจะรู้สึกถึงความแตกต่างแม้จะไม่มากนัก แต่ก็สัมผัสได้

...เย็นกาย เย็นตา และเย็นใจ...

ทางเดินขนาดสองคนเดินเคียงกันได้ จากปากทางเข้าสู่กระท่อมของสุวรรณ ดูสะอาดตา ตลอดสองข้างทางดาษดาไปด้วยพรรณไม้หลากชนิด ทั้งไม้ผลและพืชผักสวนครัว

สุวรรณ กันภัย เกษตรกรไทย ผู้มีการศึกษาในระบบเพียงแค่ป.๔ และเคยผ่านงานกุลีในเหมืองแร่ที่ปักษ์ใต้กว่า ๖ ปี ก่อนจะมาทำงานในโรงงานย่านสมุทรปราการและในเมืองหลวงอีกหลายปี ในวัยหนุ่ม
กระทั่งตัดสินใจใช้ชีวิตคู่กับสาวน้อยคำตันเมื่อ ๓๐ ปีที่แล้ว และด้วยความมุงานและเป็นคนจริงของสุวรรณทำให้เป็นที่ชื่นชอบของนายจ้าง ยิ่งทำให้เขาทำงานหนักขึ้นไปอีก เพื่อส่งเงินกลับบ้าน

สุดท้ายก็รู้ตัวว่าสุขภาพย่ำแย่ จึงตัดสินใจลาออก เพื่อดำเนินตามรอยบรรพบุรุษ โดยมีทุนรอนไม่กี่พันบาทผนวกกับผืนนาที่พ่อตายกให้ส่วนหนึ่ง

แรกๆ สุวรรณก็ทำนาเชิงเดี่ยวเฉกเช่นเกษตรกรไทยทั่วๆ ไป ซึ่งทำไปทำมาก็มีแต่หนี้สิน เลยลองปรับเปลี่ยนวิถีใหม่หันมาทำแบบผสมผสานแต่ไม่มีทฤษฎี เรียกว่า "ทำหา" (ทำไปเรื่อยเปื่อย) ว่างั้นเถอะ
เป็นใครก็ต้องอ้าปากค้างหรือหาว่าสุวรรณและครอบครัวเสียสติ เมื่อรู้ว่าสระน้ำ บ่อน้ำ พื้นที่รวมกว่า ๓ ไร่ ในแปลงเกษตรผสมผสานทั้งหมด ๙ ไร่นั้น เกิดจากน้ำพักน้ำแรง ของสุวรรณเองทั้งสิ้น ด้วยหวังจะใช้นำในบ่อเพื่อรดพืช ผักที่ปลูกไว้

โดยที่ สุวรรณ ได้แบ่งเป็นเนื้อที่ปลูกข้าว ๒ ไร่ มีสระน้ำขนาดใหญ่ ๓-๔ บ่อ มีต้นมะนาวที่ให้ผลผลิตทั้งปีกว่า ๑๐๐ ต้น ชมพู่กว่า ๑๐๐ ต้น พืช ผักสวนครัว อาทิ หอม ยี่หร่า สาระแหน่ กะเพรา โหระพา ฯลฯ รวมถึงพืชสมุนไพรสารพัดชนิด

นอกจากพืชผักสวนครัวและไม้ผลแล้ว ปลาหลากชนิดที่อยู่ในสระ ซึ่งเป็นอาหารโปรตีนสำหรับบริโภคแล้ว และแปรเป็นรายได้สู่ครอบครัวอีกทางหนึ่ง หากถามว่าใช้อะไรเลี้ยงปลา ถึงได้มีมากมายขนาดนี้ สุวรรณจะตอบว่า

"ผมไม่ได้เลี้ยงปลา แต่ปลาเลี้ยงผม"

ทั้งนี้การเลี้ยงปลาของสุวรรณนั้น เป็นการปล่อยแบบธรรมชาติ โดยอาหารของปลาก็คือเศษผักที่มีอยู่ในสวนนั่นเอง

จากนาเชิงเดี่ยวในปี ๒๕๑๖ ที่ทำเท่าไรก็มีแต่หนี้สิ้นพอกพูน และกว่า ๕ ปีที่มุ "ทำหา" กระทั่งทุกวันนี้ สิ่งที่สุวรรณ และครอบครับ "ทำหา" นั้น กลับกลายเป็นทรัพย์สินที่เก็บกินไม่รู้หมด ลูกหญิง-ชาย ที่เคยไปทำงานในเมืองหลวงนั้น ก็ถูกเรียกกลับมาช่วย "ทำหา" และจากน้ำพักน้ำแรงของครอบครัว สุวรรณได้ปลูกสร้างบ้านหลังงามให้ลูกบนผืนนานั้นด้วย

นอกจากจะใช้ชีวิตเกษตรกรเต็มรูปแบบแล้ว ความเป็นอยู่ของสุวรรณกับคู่ชีวิต ยังยึดโยงอยู่กับธรรมชาติอย่างเหนียวแน่น

กระท่อมหลังน้อยที่อาศัยอยู่นั้น ปราศจากเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิด แม้แต่การหุงหาอาหาร ก็ยังใช้ฟืนที่ได้จากแปลงเกษตร

การดูโทรทัศน์นั้น สุวรรณบอกว่า เป็นการนำสิ่งยั่วยุเข้าสู่ตัวเอง ดังนั้นเขาจึงไม่เคยดูโทรทัศน์เลย ข่าวสารบ้านเมือง ก็ติดตามจากสื่ออื่นๆ หรือจากการสนทนา

ด้วยการศึกษาเพียง ป.๔ สุวรรณยืนหยัดต่อสู้กับอุปสรรคทั้งหลายกระทั่งประสบผลสำเร็จในชีวิต ไม่เพียงแต่ครอบครัวจะมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นเท่านั้น สุวรรณยังช่วยเหลือสังคมในหลายๆ ทาง และยึดมั่นศีลธรรมเป็นที่ตั้ง

โดยตั้งปณิธานไว้ว่าจะสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนและสังคมจนกว่าชีวิตจะหาไม่ และถึงแม้จะหมดลมหายใจแล้ว ผลงานที่ทำไว้จะยังคงเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและมวลมนุษยชาติสืบไป

สุวรรณทำหน้าที่เป็นวิทยากรในเรื่องการทำเกษตรแบบพอเพียง ให้กับหน่วยงานราชการ, เกษตรกรทั้งชาวไทยและต่างประเทศรวมถึงผู้ที่สนใจในอาชีพนี้อีกด้วย

ใบประกาศเกียรติคุณและเกียรติยศ ที่หน่วยงานต่างๆ มอบให้มากมายที่คนจบป.๔ อย่างสุวรรณได้รับทั้งในระดับท้องถิ่นและในระดับประเทศย่อมแสดงให้เห็นว่าคุณค่าของคนนั้นไม่ได้อยู่ที่การศึกษาเสมอไป

รางวัลที่น่าภาคภูมิใจเป็นล้นพ้นสำหรับสุวรรณและครอบครัวนั่นก็คือ เป็นผู้นำเกษตรทฤษฎีใหม่ที่ประสบความสำเร็จของจังหวัดสุรินทร์เมื่อปี ๒๕๓๙ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยได้เข้ารับพระราชทานโล่รางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา

จากเกษตรกรผู้มีหนี้สิ้นล้นพ้นตัว กับการพลิกผืนนาเชิงเดี่ยวเพียง ๙ ไร่ ด้วยน้ำพักน้ำแรง จนกลายเป็นแหล่งอาหาร, ธนาคาร และสถานศึกษาของโลก ที่เกษตรกรไทยและต่างประเทศ นักวิชาการด้านการเกษตร ฝ่ายปกครอง และผู้ที่สนใจ แวะเวียนมาเยี่ยมเยียนดูงานอย่างสม่ำเสมอ แม้แต่ประเทศที่เป็นเจ้าแห่งเทคโนโลยีเช่นญี่ปุ่น ยังสนใจสงคนมาฝึกงานด้วย แต่สุวรรณไม่มีเวลาที่จะดูแลเลยปฏิเสธไป

นี่เอง เป็นแบบอย่างที่แสดงให้เกษตรกรไทยทั้งประเทศควรยึดเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต แทนที่จะปล่อยผืนนาให้รกร้างว่างเปล่าหลังฤดูเก็บเกี่ยว แล้วบอกว่าไม่มีงานทำ ไม่มีเงิน ก็บ่ายหน้าเข้าสู่เมืองหลวง ทำให้เกิดปัญหามากมายตามมาในภายหลัง

สุวรรณ กันภัย เกษตรกรไทยวัยย่าง ๖๐ และครอบครัว ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า "ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว" ยังศักดิ์สิทธิ์เสมอสำหรับเกษตรไทยผู้มีความตั้งใจและไม่ท้อถอย



คำ "ติ-ชม" ของท่านมีค่ามหาศาลต่อการพัฒนาเว็บไซต์ครับ

created by.กระดานดำออนไลน์
730/4 Tassabarn 7 Rd. Tambol.Ra-ngang
Sikhoraphum District, Surin Province.Thailand 32110
email : jakrapog@hotmail.com 
๕  พฤศจิกายน  ๒๕๔๗

-ค