รักบ้านรักเมืองไทย รักษาไว้ด้วยวัฒนธรรม
เสริมสร้างและกล่าวย้ำ ให้สมค่าความเป็นไทย (๓)

     
 

ศาสนาและความเชื่อ

เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า ส่วนที่สำคัญในทุกวัฒนธรรมคือศาสนา เพราะศาสนามีผลต่อความรู้สึกนึกคิด ประเพณี และเป็นแรงบันดาลใจให้มนุษย์ได้สร้างสรรค์วัฒนธรรมอื่นๆ อีกเป็นอันมาก ดังที่เสถียรโกเมศได้กล่าวไว้ดังนี้

"วัฒนธรรมที่เป็นส่วนสำคัญคือศาสนา เพราะวัฒนธรรมอื่นๆ มีประเพณี ศิลปะ วรรณคดี จรรยาและคติความเชื่ออื่นๆ แต่เดิมย่อมขึ้นอยู่แก่ศาสนาทั้งนั้น เช่น ประเพณีทำบุญ การสร้างสถานที่วิจิตรรจนา รูปภาพ รูปหล่อ ก็อยู่วัดวาอารามทางศาสนา วรรณคดีแต่ก่อนเป็นเรื่องเกี่ยวกับศาสนาเป็นส่วนมาก แม้แต่นิทานก็เช่นเดียวกัน ความคิดเรื่องความประพฤติ เรื่องบาปบุญ คุณโทษ ก็สืบเนื่องมาจากศาสนาเป็นส่วนมาก เป็นเช่นนี้มาแต่เดิม ไม่ว่าเป็นชาติภาษาใด แม้ว่ารบกันก็ยังอ้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาให้ช่วยคุ้มครองหรือเพื่อศาสนา ถึงทุกวันนี้ก็เป็นเช่นนั้น"

สังคมไทยมีพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่คอยยึดเหนี่ยวจิตใจและยึดถือในการประพฤติปฏิบัติ อีกทั้งยังมีส่วนช่วยจรรโลงให้สังคมไทยสามารถดำรงอยู่ได้ด้วยความสงบสุขตลอดมา ดังจะเห็นได้จากอดีตที่คนไทยได้ผูกการดำเนินชีวิตไว้กับศาสนากิจ เช่น เมื่อครั้งรุ่งอรุณ เสียงระฆังจากวัดจะปลุกแม่บ้านให้ตื่นจากนิทรา เพื่อมาหุงหาอาหารสำหรับคนในครอบครัวและเตรียมเป็นสำรับกับข้าวสำหรับใส่บาตรเป็นกิจวัตรประจำวัน ยามเพลจะได้ยินเสียงกลองอันเป็นสัญลักษณ์บอกว่าใกล้จะเที่ยงวัน เมื่ออาทิตย์อัศดงลับขอบฟ้าก็จะได้ยินเสียงสวดมนต์ทำวัตรเย็นดังมาจากอุโบสถ ก่อนจะเข้านอนคนไทยจะต้องระลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ ด้วยการสวดมนต์ก่อนนอนและสำหรับบุคคลผู้ประพฤติปฏิบัติในหลักธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ ในปรมัตถ์ ก็มีผลต่อการพัฒนาจิตวิญญาณ ให้เป็นอิสระจากความทุกข์ยากทั้งปวง พุทธศาสนาจึงเป็นหลักในการหล่อหลอมบ่มเพาะทั้งความประพฤติ สติปัญญา และอุดมการณ์แห่งชีวิตของคนไทยไปพร้อมๆ กัน นอกจากนี้ วัดยังเป็นศูนย์รวมของการทำบุญตามกาละสำคัญต่างๆ เช่น วันมาฆบูชา วิสาขบูชา เข้าพรรษา ออกพรรษา การรวมกิจกรรมต่างๆ ถือเป็นการเอื้ออาทรและแสดงไมตรีจิตต่อกัน ทำให้วัดและชุมชนจึงใกล้ชิดกันตลอดมา ไม่เพียงแต่เท่านั้น ประมุขแห่งสยามประเทศทุกพระองค์นับแต่อดีตกาลกระทั่งปัจจุบันล้วนเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา จนเกิดกระแสนิยมเรียกประมุขนั้นว่า "พระธรรมราชา" และได้มีการบัญญัติ "ทศพิธราชธรรม" และ "จักรวรรดิวัตร" ขึ้นไว้เป็นจรรยาบรรณแห่งการปกครอง ทำให้คนไทยทุกคนได้อยู่ใต้พระบรมโพธิสมภารมีความร่มเย็นเป็นสุขเสมอมา

พระพุทธศาสนา จึงเป็นศาสนาที่อยู่คู่สังคมไทยมาทุกยุคทุกสมัยและควรส่งเสริมทำนุบำรุงให้เจริญรุ่งเรืองสืบไป ดังจะขอเชิญพระราชดำรัสขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่ประชาชนในการเสด็จออกผนวช เมื่อวันที่ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๙๙ ดังนี้

"อันพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติของเรานี้ ตามความที่ได้อบรมมาก็ดี ตามความศรัทธาเชื่อถือก็ดี เห็นเป็นศาสนาที่ดีศาสนาหนึ่ง มีคำสั่งสอนให้คนประพฤติตนเป็นคนดี ทั้งเพียบพร้อมด้วยบรรดาสัจธรรมอันชอบด้วยเหตุผลน่าเลื่อมใสยิ่ง"

อย่างไรก็ตาม คนไทยก็มีจิตใจกว้างในการยอมรับความเชื่อหรือการปฏิบัติของศาสนาทุกศาสนา ทั้งยังอยู่ร่วมกันได้ด้วยความปรองดอง ความเป็นศาสนาที่ไม่ใช่ความรุนแรง รักสงบและยึดทางสายกลาง ทำให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่รวมคนไทยเข้าด้วยกันได้ดี แม้ว่าต่างชาติ ต่างศาสนากัน ยิ่งกว่านั้น พระมหากษัตริย์ของไทยยังทรงเป็นองค์ศาสนูปถัมภก คืออุปถัมภ์ศาสนาทั้งหลายไม่เฉพาะแต่พระพุทธศาสนา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าลักษณะที่เป็นมิตรของพระพุทธศาสนานั้น เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในลักษณะของสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นสถาบันหลักอีกศาสนาหนึ่งด้วย

ในด้านความเชื่อของคนไทย ก็ไม่ได้แตกต่างจากชนชาติอื่นๆ คือมีความเชื่อถือในเรื่องไสยศาสตร์ ผีสางเทวดา เชื่อในสิ่งที่มองไม่เห็นและมีฤทธิ์อำนาจที่จะบันดาลร้าย-ดี ให้แก่มนุษย์ได้ การที่คนไทยมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับธรรมชาติและสิ่งที่เหนือธรรมชาติ คนไทยจึงมีความเชื่อในสรรพสิ่งอันเป็นวิสัยของมนุษย์ที่ต้องการดำรงอยู่ด้วยความรู้สึกสมดุลกับธรรมชาติ และเป็นการสร้างกุศโลบายให้มีความรักและความหวงแหนสิ่งที่ให้คุณประโยชน์ในการดำรงชีวิต ความเชื่อของคนไทยแต่เดิมคือ "ผี" อันได้แก่ ผีบรรพบุรุษ ผีฟ้า (แถน-เทวดา) ผีนา (แม่ขวัญข้าว-แม่โพสพ) ผีดิน (แม่ธรณี) ผีน้ำ (แม่คงคา) และผีอื่นๆ อีกมากมาย ทั้งนี้เพราะคนไทยในสมัยก่อนถือว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งในธรรมชาติ ซึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในธรรมชาติสามารถที่จะดลบันดาลให้ทั้งความอุดมสมบูรณ์และความวิบัติภยันตรายทั้งปวง การไม่ทำลายและทำร้ายธรรมชาติทำให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข

จากที่กล่าวถึงเรื่องศาสนาและความเชื่อของคนไทย จะเห็นได้ว่าการนับถือศาสนาและความเชื่อของคนไทยมีลักษณะพิเศษ กล่าวคือ นอกจากจะกราบไหว้บูชาพระพุทธรูปแล้ว ยังกราบไหว้บูชาศาลพระภูมิและผีสางเทวดา จากที่กล่าวเกี่ยวกับวัฒนธรรมไทยนั้น จะเห็นได้ว่าวัฒนธรรมไทยนอกจากจะมีลักษณะเป็นสากลเหมือนกับวัฒนธรรมของกลุ่มชนอื่นๆ แล้ว ยังมีลักษณะเฉพาะที่แสดงเอกลักษณ์แห่งความเป็นไทย แสดงลักษณะเฉพาะของกลุ่มตนหลายประการ อาทิ เป็นวัฒนธรรมที่มีความเกี่ยวพันกับพระพุทธศาสนาอย่างแน่นแฟ้น อีกทั้งยังเกี่ยวพันกับสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวไทยทั้งปวง นอกจากนี้ ยังมีลักษณะที่ผสมผสานความเชื่อดั้งเดิมเข้ากับศาสนาพุทธและพราหมณ์ได้อย่างแนบสนิท เป็นวัฒนธรรมที่มีความกลมกลืนกับธรรมชาติ ชื่นชมธรรมชาติมากกว่าจะเอาชนะธรรมชาติ ดังเช่นกวีโบราณที่รจนาไว้ในวรรณคดีหลายๆ ฉบับ อีกประการก็คือ มีความละเอียดลออ ประณีตพิถีพิถันตามแบบฉบับชีวิตชาวบ้านที่ไม่มีความรีบร้อน ซึ่งจะเห็นได้จากงานวิจิตรศิลป์ต่างๆ ของไทย และยังเป็นวัฒนธรรมที่มีความอิสรเสรี แสดงออกถึงความสนุกสนาน ร่าเริง เน้นคุณค่าของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ แต่ก็ยังไม่ลืมที่จะยกย่องผู้อาวุโส พระสงฆ์ วงศาคณาญาติ วัฒนธรรมไทยสั่งสอนให้คนไทยเคารพเชื่อฟังผู้ใหญ่ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้ดำเนินสืบเนื่องมาเป็นเวลาหลายชั่วอายุคน สั่งสมเป็นวัฒนธรรมของชาติ ทำให้คนไทยทุกหมู่เหล่าสามารถอยู่ร่วมกันด้วยความอบอุ่นและสงบสุข

อย่างไรก็ตาม วัฒนธรรมไทยก็เช่นเดียวกับสิ่งอื่นๆ ทีมนุษย์ สังคมสร้างขึ้น ย่อมต้องมีเกิด มีดับ เปลี่ยนแปลง เคลื่อนไหว ตลอดเวลา และท่ามกลางความเจริญก้าวหน้าอย่างไม่หยุดยั้งของโลก จำเป็นที่จะต้องมีการตัดสินใจ นั่นคือจะต้องปรับปรุง แก้ไขให้เหมาะสมกับสิ่งแวดล้อมและสภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ดังนั้นการผสมผสานระหว่างเก่ากับใหม่และกับวัฒนธรรมต่างประเทศของวัฒนธรรมไทยจำเป็นต้องมีขึ้น เพื่อให้สามารถดำรงอยู่ได้ในสังคมโลก แต่ก็ไม่สามารถละทิ้งความเป็นเอกลักษณ์ของไทยได้ การเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมไทยนั้นมีทั้งด้านบวกและด้านลบ ดังจะได้กล่าวต่อไปต่างๆ ด้วย

 

หน้าก่อนหน้า

หน้าถัดไป

 
 

ด้วยจิตคารวะ

 


คำ "ติ-ชม" ของท่านมีค่ามหาศาลต่อการพัฒนาเว็บไซต์ครับ

created by.
กระดานดำออนไลน์
730/4 Tassabarn 7 Rd. Tambol.Ra-ngang
Sikhoraphum District, Surin Province.Thailand 32110

email : jakrapog@hotmail.com 
๒๐ เม.ย.  ๒๕๔๘

-ค