วัตถุประสงค์

   จากแนวโน้มการเติบโตของอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย จากการสำรวจในเร็วๆ นี้พบว่า
จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศมีประมาณ 8 แสนคน (ปี 2542) และคาดว่าในปีถัดไป
คือปี 2543 จะมีจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นอีก 100 เปอร์เซ็น เนื่องมาจากราคาที่ถูก
ลงของเครื่องคอมพิวเตอร์และการแข่งขันกันในด้านราคาของเจ้าของ ISP ทั้งหลาย ทำให้
ผู้ใช้มีทางเลือกมากขึ้น

   นั่นเป็นการประมาณการ ตัวเลขจริงอาจจะมากหรือน้อยกว่าที่ผมเรียนให้ทราบแต่ก็คงจะ
ไม่แตกต่างกันมากนัก เป็นที่น่าสนใจว่าจากสถิติตัวเลขนั้นเป็นตัวเลขของผู้ใช้นะครับ แต่
ผมไม่ทราบว่ามีการสำรวจถึงจำนวนตัวเลขของผู้สร้างเว็บไซต์ชาวไทยบ้างหรือเปล่า

   จากการชุมนุมของเว็บมาสเตอร์คนไทย 2-3 ครั้งที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีจำนวนสมาชิกราว
6-700 คนเท่านั้น
(อาจจะมีมากกว่านั้นแต่ไม่ได้สมัครเป็นสมาชิก) แต่เมื่อเทียบกับจำนวน
ผู้ใช้แล้วจะเห็นว่าตัวเลขนั้นห่างกันลิบลับเลยทีเดียว

   และจากการประชุมที่ผ่านมาเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน ในที่ประชุมมีการพูดคุยถึงเรื่อง
เนื้อหาของเว็บไซต์ภาษาไทย หรือที่เราเรียกว่า "Content web" ว่าเรามีไม่มากพอที่จะให้
ผู้ท่องเว็บได้เข้าไปอ่านเนื้อหา ทำให้ผู้ใช้ที่เป็นนักเรียน นักศึกษาหันไปเล่นโปรแกรม
ประเภทสนทนาผ่านเว็บ เช่น Pirch หรือ Icq เป็นต้น

   แต่ในความเป็นจริงแล้ว เว็บที่เป็นเนื้อหาภาษาไทยนั้นมีมากมาย จนผมคิดว่าอ่านยังไง
ก็ไม่หมด เพียงแต่ว่าเรายังไม่มีการจัดหมวดหมู่ให้เป็นที่เป็นทางเท่านั้นเอง ทำให้ยากต่อ
การค้นหา และก็ท้อใจเลิกค้นหันไปเล่นโปรแกรมอย่างที่ว่านั้น

   อย่างไรก็ดี จากจำนวนตัวเลขของผู้ใช้และผู้ผลิตตามที่ผมเรียนให้ทราบนั้น มันแตกต่าง
กันมากเหลือเกิน ทำอย่างไรเราจะลดช่องว่างของตัวเลขนี้ได้ วิธีการก็คือต้องให้ความรู้เกี่ยว
กับการสร้างเว็บไซต์กับคนไทยด้วยวิธีการต่างๆ

   ผมเชื่อว่าคนที่มีความคิดดีๆ และอยากถ่ายทอดนั้นมีจำนวนมากพอสมควร แต่ไม่รู้ว่าจะ
ทำอย่างไร ผมก็เคยเป็นหนึ่งในนั้น เมื่อก่อนผมชอบเขียนบทความส่งไปตามหนังสือหรือ
นิตยสารต่างๆ ก็ได้ลงบ้างไม่ได้บ้าง แต่เมื่อผมรู้จักการทำเว็บไซต์ ทำให้ผมสามารถถ่าย
ทอดความคิดและเรื่องราวต่างๆ มากมายผ่านสื่อตัวนี้

   นอกจากเร็วแล้ว สื่ออินเทอร์เน็ตยังครอบคลุมไปเกือบทั่วโลก แต่สิ่งหนึ่งที่ผมจำเป็นต้อง
ระมัดระวังมากที่สุดคือ "ความรับผิดชอบต่อสังคม" เนื่องจากสื่ออินเทอร์เน็ตเป็นสื่อที่ยาก
ต่อการควบคุมและยังไม่มีกฎหมายบังคับที่แน่นอน ทำให้สื่อนี้กลายเป็นดาบสองคมไป
ดังจะเห็นได้จากข่าวในแง่ลบเกี่ยวกับเว็บไซต์ที่เรียกว่า "เว็บไซต์ลามก" ซึ่งเมื่อถูกกระพือ
ข่าวก็ยิ่งทำให้คนทั่วไปมองอินเทอร์เน็ตเป็นสื่ออันตรายไปเสียอีก ความจริงแล้วเว็บไซต์ดีๆ
นั้นมากมายมหาศาล แต่ไม่ค่อยเป็นข่าวเท่านั้นเอง

   ทำอย่างไรเราจะสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องกับการใช้อินเทอร์เน็ตในสังคมไทยได้ เป็นสิ่ง
ที่ชาว webmaster (คนดูแลเว็บ, คนทำเว็บ) จะต้องช่วยกันครับ

   และสิ่งที่ผมกำลังทำอยู่นี้ก็เป็นอีกหนึ่งโครงการที่จะช่วยสร้างความเข้าใจในแง่บวกให้กับ
สื่ออินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะด้านการศึกษา

  "ห้องเรียนบนท้องฟ้า" เป็นเว็บไซต์กึ่งทดลอง โดยอาศัยหลักการจากบทเรียนคอมพิวเตอร์
ช่วยสอนมาประยุกต์ทำเป็น "บทเรียนบนเว็บไซต์" ซึ่งผู้เรียนสามารถเรียนรู้และปฏิบัติไป
พร้อมๆ กัน

   วัตถุประสงค์อีกข้อหนึ่งของผมคือ ต้องการให้ผู้เรียนโดยเฉพาะนักเรียน นิสิต นักศึกษา
ได้มีโอกาสทำเว็บไซต์เป็นของตัวเอง
เมื่อพวกเขาทำเว็บไซต์เป็นแล้ว ความคิดความอ่าน
ที่เราอาจจะคาดไม่ถึง (ในแง่ดีนะครับ) เช่น วิธีการเรียนให้ได้ผลดี หรือ การคิดค้นสูตร
ทางคณิตศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์ต่างๆ อาจจะปรากฎในโลกแห่ง Cyber space ก็ได้

   นั่นก็จะทำให้เรามีฐานข้อมูลทางวิชาการหรือด้านการศึกษาเพิ่มมากขึ้น ผมขอแค่ 10%
ของนักเรียนระดับมัธยมต้นขึ้นไปจนถึงระดับปริญญาตรีก็พอครับ ลองคิดดูตัวเลขก็แล้วกัน
ว่าเราจะมีฐานข้อมูลมากมายขนาดไหน

   ถ้าหากผู้เรียนทำตามขั้นตอนไปตามที่ผมได้ออกแบบบทเรียนไว้ ผู้เรียนจะได้เว็บไซต์
จาก Geocities และได้องค์ประกอบที่สำคัญของเว็บไซต์ด้วย เช่น Guestbook, Web-
board, Counter
และหากผู้เรียนจัดทำเนื้อหาเสร็จแล้ว ในบทเรียนนี้ก็จะมีวิธีการบริหาร
เว็บไซต์เช่นการ Upload files ไปไว้ใน free server ของ Geocities

โดยเนื้อหาในบทเรียนได้แบ่งเป็นลำดับดังนี้

  1. เริ่มต้นกับเว็บไซต์ เป็นการนำเสนอหลักการและแนวคิดในการทำเว็บไซต์
  2. การสมัคร E-mail ในการขอพื้นที่และการของ web accesserie จำเป็นจะต้องมี
E-mail address ก่อน ในที่นี้จะเป็นการสมัครกับ Yahoo mailและผมอยากให้ทุกท่าน
ได้สมัครตามที่แนะนำไว้ในบทเรียนเพราะกระบวนการทั้งหมดจะต่อเนื่องกันตั้งแต่เรื่องนี้
เป็นต้นไป
  3. การขอพื้นที่ ในบทเรียนนี้เป็นการขอพื้นที่เว็บไซต์ฟรีกับ Geocities ซึ่งจะต่อเนื่อง
จากการสมัคร E-mail เนื่องจาก Yahoo และ Geocities ได้ร่วมหุ้นกันแล้ว ผู้สมัคร
E-mail กับ Yahoo สามารถขอพื้นที่ฟรีต่อได้ด้วยชื่อเดียวกันกับ E-mail (รายละเอียดดู
ได้ในบทเรียนครับ)
   4. การขอ Guestbook องค์ประกอบอย่างหนึ่งของเว็บไซต์คือ Guestbook ในที่นี่จะ
เป็นการขอ Free Guestbook กับ Bravevet ซึ่งง่ายต่อการบริหารและการจัดการครับ
   5. การขอ Webboard เช่นเดียวกับข้อ 4.
   6. การขอ Counter เป็นการขอการนับจำนวนผู้เข้าชมเว็บไซต์กับ The Counter
   7. การ Upload files กับ Geocities

***หมายเหตุ*** ท่านสามารถ Print ข้อความในแต่ละหัวข้อและปฏิบัติตามก็ได้ครับ

  ในบทเรียนนี้ผมไม่ได้นำเสนอเกี่ยวกับการทำเว็์บไซต์เอาไว้ ดังนั้นท่านอาจจะเรียนรู้จาก
ตรงนี้ไปก่อนและทำเว็บไซต์ขึ้นมาทีหลังก็ได้ อีกประการหนึ่งคือ ท่านควรจะมีความรู้พื้น
ฐานเกี่ยวกับภาษา HTML ด้วยก็จะเป็นง่ายต่อการเรียนรู้ (หากมีเสียงเรียกร้องมากๆ ผมก็
จะเพิ่มเนื้อหาเรื่อง HTML อีกต่างหาก) ส่วนเรื่องของ CGI ต้องยอมรับว่าตอนนี้ผมยังเขียน
ไม่เป็นจริงๆ อีกประการหนึ่งคือผมยังไม่มีความจำเป็นต้องเขียนเอง เพราะผมสามารถ
ประยุกต์ใช้ของที่มีอยู่แล้วให้ได้ผลตามที่ผมต้องการได้เป็นอย่างดี ซึ่งผมก็จะนำเสนอใน
บทเรียนนี้เช่นกัน แต่ว่าผมจำต้องศึกษาให้ถ่องแท้ให้จงได้ในเร็ววันนี้

  อย่างไรก็ตาม เว็บไซต์นี้ยังคงมีข้อบกพร่องอยู่พอสมควร เนื่องจากผมได้คิดแลทำเพียง
ลำพัง และเป็นแนวทดลอง ซึ่งหากท่านพบข้อบกพร่องหรือต้องการนำเสนอแนวคิดที่เป็น
ประโยชน์ในการปรับปรุงผมยินดีน้อมรับและจะแก้ไขเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้เรียน
ต่อไปครับ

ด้วยจิตคารวะ
จักรพงษ์  เจือจันทร์
๑๔ ัธนวาคม ๒๕๔๓


 

จัดทำโดย :นายจักรพงษ์   เจือจันทร์ email : jakrapog@hotmail.com
๗๗๕/๑๑ ถ.สุขาภิบาล ๔ ตำบลระแงง
อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ ๓๒๑๑๐